ถอดบทเรียนความเหลื่อมล้ำโรงเรียนเล็กในต่างจังหวัด

September 16, 2020
Paul Rungruangsate

ข่าวการศึกษาที่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินกันจนชินหู นั่นก็คือ คะแนนสอบเฉลี่ยของนักเรียนไทยทั้งประเทศต่ำกว่าครึ่ง และจากผลสอบ PISA ครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ในการวัดผลจาก 3 วิชาหลักในเด็กอายุ 15 ปี ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พบว่า เมื่อเทียบกับนานาชาติ คะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกครบทั้ง 3 วิชา และติดรั้ง 13 อันดับสุดท้ายจาก 79 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ก็ได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับประเทศไทย อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยมาจากหลายส่วน แต่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยที่เราต้องยอมรับและหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั่นก็คือ ปัจจัยด้าน ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’

ซึ่งเป็นไปได้ยาก ถ้าเราอยากให้เด็กไทยทุกคนได้คะแนนเฉลี่ยสูง ๆ ในขณะที่ยังมีเด็กไทยบางกลุ่มเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทุลักทุเล

‘ครูตั้ม’ อดีตนักวิชาการสาธารณสุข ปัจจุบันเป็นหนึ่งในครูผู้ผลักดัน insKru กลุ่ม community ของครูผู้ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยครูตั้มได้ผันตัวเองมาเป็นครูให้กับ ‘โรงเรียนวัดใหม่สามัคคี’ โรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดนครสวรรค์ มีนักเรียนทั้งหมด 51 คน ครูตั้มทราบดีว่าความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอาจจะไม่หวือหวา แต่ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ ผลักดันให้ครูตั้มเป็นครูสอนอยู่ที่นี่มาแล้วเกือบ 2 ปี

แต่ก่อนหน้าที่ครูตั้มจะกลายเป็นครูตั้มได้นั้น ต้องใช้เวลาในการโอนย้ายจากกระทรวงมายังโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้นานถึง 6 เดือน ซึ่งในช่วงรอยต่อนี้ ก็ทำให้เด็กขาดครูสอนไปโดยปริยาย

20:1 สัดส่วนแห่งความเหลื่อมล้ำ

ครูตั้มเล่าให้กับทีมงาน Disrupt ฟังถึงสัดส่วนของจำนวนนักเรียนต่อครูในโรงเรียนที่พึงมี นั่นก็คือจำนวนนักเรียน 20 คนจะสามารถขออนุมัติจัดจ้างเจ้าหน้าที่ได้ 1 คน ซึ่งหากเป็นโรงเรียนทั่วไปในเขตเมืองก็ดูจะเป็นสัดส่วนที่ไม่มีปัญหา แต่สำหรับโรงเรียนขนาด 51 คน นั่นแปลว่า จะสามารถมีคุณครู เจ้าหน้าที่ด้านธุรการ บัญชี การเงิน พัสดุ และอื่น ๆ รวมกันได้เพียง 3 คน ซึ่งทำให้ครูหนึ่งคนต้องสอนอย่างน้อย 3 ชั้นเรียน บวกกับภาระหน้าที่ทางด้านธุรการ บัญชี การเงิน พัสดุ และจิปาถะอื่น ๆ อีกมากมาย

ก้าวข้ามข้อจำกัดด้วยแนวทางใหม่ๆ

จำนวนครูที่ไม่เพียงพอต่อการสอน ทำให้โรงเรียนต้องหารายได้เพื่อจ้างครูเพิ่ม โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากธารน้ำใจของชาวบ้านที่บริจาคเป็นกองผ้าป่าเข้ามา และอีกส่วนหนึ่งมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อให้เหลือมาถึงค่าครองชีพครูในแต่ละเดือน ซึ่งครูที่ต้องแบกรับบทบาทครบทุกหน้าที่ที่ได้กล่าวมานั้น ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 6,000 ถึง 9,000 บาท แต่ก็ยังคงไม่พอสำหรับจำนวนครูที่ต้องมีสอนให้ครบทุกชั้น ทีมงานจึงถามต่อว่า แล้วเรียนกันอย่างไร? คำตอบจากครูตั้มก็ทำให้ทีมงานของเราซึมลงทันที

“เรียนแบบใช้ห้องเรียนร่วมกัน ถ้าอยู่คนละ ป. ก็หันหลังชนกันคนละด้าน แล้วครูเดินสอนสลับฝั่งแทน ส่วนนักเรียนที่อยู่อีกห้องเรียน ซึ่งเป็นคนละชั้นกัน ครูก็ต้องขึ้นลงบันได วันนึงต้องเดินขึ้นลงหลายรอบ”

โอกาสในการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียน

ย้อนกลับไปในวันแรกที่ครูตั้มเข้ามาสอนที่นี่ ครูตั้มต้องนำคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่มีอยู่ 2 เครื่อง มาให้เด็ก ๆ ที่ครูตั้มรับผิดชอบการสอนทั้งหมด 11 คน เฉลี่ยแล้วต้องแบ่งกันใช้คอมพิวเตอร์เครื่องละ 5-6 คน ครูตั้มได้กล่าวเสริมอีกว่า

“โชคดีที่ ผอ. มองเห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้จัดระดมทุนเพื่อการศึกษา จนได้คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่สำหรับนักเรียนทั้งโรงเรียนทั้งหมด 7 เครื่อง พร้อมกับระบบ LAN ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานกัน เช่น MS Word และ MS Excel”

DLTV ดีต่อครู แต่ไม่ Engage กับเด็ก

ครูตั้มได้รับบทบาทให้สอนภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่เนื่องจากจำนวนครูที่มีน้อย ครูตั้มรวมถึงครูท่านอื่นในโรงเรียนจึงต้องสอนให้ครบทุกวิชา สำหรับวิชาที่ครูไม่ถนัด ก็มีภาครัฐเข้ามาช่วยสอนให้ โดยผ่านสื่อ DLTV ซึ่งเป็นสื่อที่รัฐบาลสนับสนุน โดยครูตั้มจะใช้สำหรับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการเรียนวิธีนี้ ใช้ได้ผลกับเด็กเพียงแค่ชั่วโมงเดียวเท่านั้น เนื่องจาก DLTV ไม่มี Reaction จึงทำให้เด็กหลุดความสนใจได้ง่าย

การเรียนการสอนในช่วง COVID-19

จากสถานการณ์โรคไวรัสระบาดนี้ ทำให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนชั่วคราว DLTV ที่คิดไว้ว่าจะให้นักเรียนใช้โหลดใบงานที่บ้าน ก็กลายเป็นแต่ละบ้านมีทีวีแค่เครื่องเดียว จึงแย่งกันดูระหว่างผู้ปกครองและเด็ก บางครอบครัวมีผู้ปกครองที่ดูแลเป็น คุณยาย หรือผู้สูงอายุ ก็ใช้ DLTV ไม่เป็น อ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งข้อจำกัดของการใช้งาน DLTV นี้ ทำให้มีเพียงนักเรียน ป.6 ที่ผ่านการฝึกฝนการใช้งานจากคุณครูมาแล้วเท่านั้น จึงจะพอสามารถใช้งานได้

ความหวังในการเรียนออนไลน์จากบ้าน

เป็นไปได้ยาก หากจะให้ครูตั้มจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ส่วนบ้านที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอินเตอร์เน็ตฟรีจากรัฐบาล ก็จะมีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อ (connection) ที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ ช้าบ้าง กระตุกบ้าง หรือ เพื่อนบ้านที่ปล่อย wifi ให้ใช้ฟรี แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ซึ่งประมาณ 1-2 ทุ่ม wifi ก็จะถูกปิดด้วยความที่เป็นต่างจังหวัด และอีกเหตุผลก็คือ เด็กยังเล็กเกินกว่าจะวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ได้เอง โดยเฉพาะถ้าไม่มีผู้ใหญ่ควบคุมอย่างใกล้ชิด จึงมีเด็กบางส่วนเข้าใช้งานอินเตอร์เน็ตไปในทางที่ผิด

การสื่อสารที่ยังต้องพึ่งผู้ใหญ่บ้านในชุมชน

จากความยากลำบากเรื่องการสื่อสารทางออนไลน์ บวกกับช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 เช่นนี้ การรับข้อมูลข่าวสารของนักเรียนจึงต้องให้ครูจากโรงเรียนเดินทางไปแจ้งกับเด็กนักเรียนด้วยตนเอง หรือไปหาผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ช่วยกระจายข่าวสารไปถึงเด็ก ๆ

เด็กนักเรียนยากจนมีมากกว่า 60%

ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่แทบทุกโรงเรียนต้องเผชิญก็คือ ‘ปัญหาความยากจน’ โดยโรงเรียนวัดใหม่สามัคคี มีเด็กนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ระดับยากจน 23 คน และยากจนพิเศษ 10 คน ซึ่งรวมแล้วคิดเป็น 62.26% โดยนักเรียนในกลุ่มยากจนจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลคนละ 500 บาท และยากจนพิเศษอีกคนละ 3,000 บาทต่อเทอม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าดำรงชีพของนักเรียน 1,500 บาท เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง อีก 1,500 บาท ให้แก่โรงเรียนในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

สำหรับกลุ่มยากจนพิเศษ เงินที่ได้รับมานั้นช่วยบรรเทาความลำบากได้ในระดับหนึ่ง แต่ในบางครั้งก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เด็กบางคนยังคงใส่เสื้อผ้าและรองเท้าขาด ๆ จนเกือบใช้งานไม่ได้มาเรียนหนังสือ

ปัญหาความยากจนทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว จึงผลักให้เด็กนักเรียนหลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลกำหนด ครูตั้มเล่าให้ทีมงานเราฟังว่า

“เด็กขาดเรียน 2 เดือนภายในเทอมเดียว เนื่องจากต้องตามพ่อแม่ไปทำงานที่อื่น และตัวเด็กเองก็มีหน้าที่ช่วยเลี้ยงน้อง”

ปัญหานี้ทำให้ ผอ. และครูตั้มต้องเข้าประกบนักเรียนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ด้วยการสอนเพิ่มเติมนอกเวลา เพราะไม่อยากให้การเรียนซ้ำชั้นกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นกับเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ

นอกจากนี้เด็กบางคนก็ออกจากระบบการศึกษาเพื่อทำไร่ ทำนา และรับจ้างทั่วไป เนื่องจากต้องการหาเงินมาใช้ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของตนเองและครอบครัว และคิดว่านี่เป็นวิธีที่เห็นเงินเร็วที่สุด ไม่ต้องรอให้จบการศึกษาซึ่งใช้เวลาอีกนานหลายปี

ครูตั้มยังกล่าวเสริมอีกว่า เด็กมัธยมต้นที่อยู่โรงเรียนในตำบลเดียวกัน ก็หลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากพื้นฐานระดับประถมศึกษาไม่แน่น ทำให้เมื่อเข้าไปเรียนแล้วจึงติด 0 ติด ร จนเด็กไม่อยากเรียนหนังสือต่อไป

ฝากชีวิตไว้ที่โรงเรียน

ผู้ปกครองบางคนฝากความหวังไว้กับครูและโรงเรียน หวังเพียงจะให้เด็กได้รับอาหารเช้าฟรีจากทางโรงเรียน แต่โรงเรียนยังคงสามารถจัดหาได้เฉพาะอาหารเที่ยง ทำให้ในบางครั้ง ครูตั้มก็ต้องใช้เงินส่วนตัวเพื่อซื้อนมให้กับเด็ก ๆ ได้ดื่มรองท้อง ไม่งั้นเด็กจะไม่มีสมาธิในการเรียนเนื่องจากความหิว ภาระนับสิบชีวิตครูและโรงเรียนจึงต้องเป็นดูแลโดยปริยาย

แรงจูงใจในการเรียนของเด็ก

เมื่อทีมงานถามว่า มีอะไรที่ทางโรงเรียนได้สร้างแรงดึงดูดหรือแรงจูงใจให้เด็กสนใจเรียนมากขึ้นบ้าง คำตอบที่ครูตั้มได้ให้ไว้น่าสนใจสำหรับ EdTech Startup ที่กำลังมองหาไอเดียอยู่เลยทีเดียว

“สิ่งที่เด็กทุกคนสนใจกันหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเรียน หรือเด็กไม่ค่อยเรียนก็ตาม นั่นก็คือ พวกเกมให้ความรู้ต่าง ๆ เช่น Bingo คำราชาศัพท์, Kahoot รวมถึงชุมนุมเล่นเกมที่สอดแทรกความรู้ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ดึงความสนใจเด็ก ๆ ได้ดี นอกจากนี้ Classdojo ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเรียนรู้ออนไลน์ที่ครูเปิดให้เด็กดู และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยใช้วิธีการนับคะแนนและบางครั้งก็ให้เงินรางวัลเพื่อเป็นแรงเสริมทางบวก”

นอกจากนี้ครูตั้มยังกล่าวเสริมอีกว่า “Application ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ มีโอกาสและแนวโน้มสูงที่จะได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียน”

ส่วนรางวัลจากการเรียนที่เด็ก ๆ ได้รับจากโรงเรียน ได้แก่ เงินรางวัล (ส่วนที่เหลือจากงบต่างๆ) อุปกรณ์การเรียน และขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีมอบให้กับนักเรียนเรียนดี และนักเรียนที่มีความประพฤติดีอยู่เรื่อย ๆ

เป้าหมายที่ครูตั้มมองไว้

สิ่งแรกที่ครูตั้มพูดถึงก็คือ พื้นฐานการศึกษาที่เท่าเทียมกับเพื่อน ๆ เมื่อเรียนต่อในระดับมัธยม จากที่ได้เล่าไปแล้วข้างต้น หากพื้นฐานการศึกษาระดับประถมไม่ดี ก็จะส่งผลให้โอกาสในการเรียนระดับมัธยมจบลงแบบไม่ถึงฝั่งฝัน เนื่องจากเด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นจุดอ่อน เรียนไม่ทันเพื่อน ๆ จนเกิดความเครียด และสุดท้ายก็หนีความเครียด ด้วยการพาตัวเองออกนอกระบบการศึกษา

ครูตั้มยังต้องการให้นักเรียนทุกคนได้เข้าใจถึงแก่นแท้จริง ๆ ว่า วัตถุประสงค์ที่เราต้องเรียน เพื่อให้มีความรู้ มีทักษะต่าง ๆ นั้น เพื่ออะไร?

โดยตอนนี้ครูตั้มเป็นเพียงหนึ่งกระบอกเสียงเล็ก ๆ ที่คอยให้คำปรึกษาผู้ปกครอง จากการสังเกตเด็กนักเรียนแต่ละคนว่ามีความสามารถด้านไหนเด่นเป็นพิเศษ เช่น เด็กบางคนเรียนไม่เก่งแต่ร้อยมาลัยเก่ง ทำอาหารเก่ง เป็นต้น

สิ่งที่อยากให้ EdTech เข้ามาช่วยเติมเต็ม

เนื่องจากครูตั้มได้รับหน้าที่ให้สอนหลายวิชา วิชาที่ไม่ถนัดก็จะใช้ DLTV ช่วยสอน ซึ่งเด็กนักเรียนไม่ค่อยให้ความสนใจ ประกอบกับสื่อความรู้ต่าง ๆ ก็ไม่สามารถเบิกงบโรงเรียนได้ทั้งหมด ดังนั้นหากมีสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ ที่ EdTech สามารถให้ความช่วยเหลือ ตอบโจทย์ได้ หรืออย่างน้อยการรวบรวมข้อมูลทำเป็นคลังวิชาต่าง ๆ ก็สามารถช่วยได้เยอะ

และเนื่องจากโรงเรียนวัดใหม่สามัคคีเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ครูทุกคนต้องมีหน้าที่ทำอย่างอื่นนอกเหนือจากงานสอนด้วย เช่น การเงิน บัญชี พัสดุ เป็นต้น ซึ่งการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้ครูป้อนข้อมูลออนไลน์ได้จะดีมาก เนื่องจากปัจจุบัน การกรอกข้อมูลต่าง ๆ หลายครั้งต้องกรอกข้อมูลเหมือนเดิม ซ้ำซ้อน หลายรอบ หลายครั้ง เพราะข้อมูลทุกอย่างไม่ลิงก์กัน และยังเป็นการเขียนมืออยู่ ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มภาระที่นอกเหนือจากการสอน ถ้าหากช่วยลดขั้นตอนตรงนี้ได้ จะทำให้ครูมีเวลาไปโฟกัสงานสอนเพิ่มขึ้น และอยากสอนมากขึ้น

และนี่เป็นเพียงหนึ่งเสียงจากครูตั้ม ครูประจำโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัด แต่ประเทศไทยยังมีอีกหลายโรงเรียนที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่พร้อมจะเข้ามาเติมเต็มอนาคตทางการศึกษาให้กับพวกเขาเหล่านั้น สามารถสมัครเข้ามาร่วมแข่งขัน 'งานระดมสมองและสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน' หรือ 'Education Disruption Hackathon ครั้งที่ 2' ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 03 พฤษภาคม 2563 นี้


📌 เข้ากลุ่มเพื่อพูดคุยกับทีมงาน หรือหาแนวร่วมผู้มีอุดมการณ์เดียวกันได้ที่: Education Disruption นวัตกรรมเพื่อการศึกษาไทย


ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Venture และพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่าน Content สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งฟังประสบการณ์ จาก EdTech Startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง