สตาร์ทอัพเพื่อสังคม กุญแจสำคัญสู่การศึกษาไทยที่มีคุณภาพและเท่าเทียม

December 21, 2020
Patty Pemika

หลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทยสำหรับเยาวชนและวัยทำงานกันมากขึ้น ภาครัฐมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ผลักดันการเรียนทางไกล ส่วนภาคเอกชนและสตาร์ทอัพเองก็นำเสนอทางออกใหม่ ๆ รวมทั้ง EdTech ที่ใช้เทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ทางออกเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายที่ส่งผลให้ผลลัพธ์ยังไม่มากเท่าที่คาดหวัง เราจึงต้องการ ‘สตาร์ทอัพเพื่อสังคม’ เพื่อมาเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมพัฒนาการศึกษาไทยไปให้ได้ไกลยิ่งขึ้นกว่าเดิม

Social Impact Startup คืออะไร? ต่างจากมูลนิธิเพื่อสังคมอย่างไร?

สตาร์ทอัพเพื่อสังคม หรือ Social Impact Startups คือ ธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม เป็นเป้าหมายเดียวกับมูลนิธิหรือหน่วยงานเพื่อสังคมต่าง ๆ การทำงานขององค์กรทั้งสองรูปแบบจึงอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในปัญหาและบริบทของผู้ประสบปัญหาทางสังคมอย่างแท้จริง

จุดที่แตกต่างที่สำคัญคือ เงินทุนที่นำมาดำเนินงานและขยายผล เงินทุนของมูลนิธิมักมาจากเงินบริจาค แต่เงินทุนของสตาร์ทอัพเพื่อสังคมจะมาจากการขายสินค้าและบริการที่มีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้น

Social Impact Startup ต่างกับ Startup ทั่วไป อย่างไร?

แนวทางการทำงานของสตาร์ทอัพเพื่อสังคม จะเหมือนสตาร์ทอัพทั่วไป ที่จะมุ่งไปที่การหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีอยู่ ทดลองสิ่งใหม่ ๆ โดยต้องมีโมเดลทางธุรกิจสามารถทำกำไรได้

ความแตกต่างที่สำคัญคือ กลุ่มเป้าหมาย Startup ทั่วไปจะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่กำลังเผชิญปัญหาและมีกำลังจ่าย แต่สำหรับ Social Impact Startup จะเน้นไปที่กลุ่มที่กำลังเผชิญปัญหาทางสังคมโดยตรง ในหลาย ๆ กรณีหากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนที่ขาดแคลนทางทุนทรัพย์ ลูกค้าที่จ่ายเงินสำหรับสินค้าและบริการมักเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งแทน

“ความแตกต่างอีกมุมหนึ่ง คือ จุดประสงค์การใช้กำไร โดย EdTech Startup จะนำกำไรกลับมาขยายกิจการให้เติบโตให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ Social Impact Startups จะนำกำไรกลับมาขยายการดำเนินการ ให้สามารถแก้ปัญหาทางสังคมในวงกว้างมากขึ้น”

Startup เพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร?

การที่ Startup เพื่อสังคมรวมเอาจุดเด่นของหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน จึงทำให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมกับการช่วยการศึกษาไทยให้ก้าวผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ ได้ดังนี้

หาทางออกใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

Startup เพื่อสังคมมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอนวัตกรรมทางสังคมใหม่ ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าทดลองและพัฒนาอย่างรวดเร็ว บนพื้นฐานของความเข้าใจในปัญหาและบริบทของกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง ทำให้มั่นใจได้ว่านวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ได้มาเหมาะสมกับบริบทของกลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพได้

insKru เป็นตัวอย่างของ Startup เพื่อสังคมที่นำเสนอทางออกใหม่ให้กับการศึกษาไทย เริ่มจากปัญหาที่คุณครูมีภาระงานเอกสารมากมาย และไม่มีเวลามาออกแบบการสอนเพื่อพัฒนาห้องเรียน ทีม insKru จึงสร้าง แพลตฟอร์ม community คุณครู มาเป็นพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนและเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน ถือว่าไอเดียที่ตรงกับความต้องการของคุณครู และช่วยพัฒนาคุณภาพการสอนในห้องเรียนทั่วประเทศได้ อย่างตรงจุด แต่หากไม่ใช่ทีม insKru ที่มีความเข้าใจเชิกลึกในบริบทของคุณครู มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าออกมาทดลองด้วยตนเอง ไอเดียนี้คงไม่ถือกำเกิดขึ้น

เข้าถึงกลุ่มที่มีรายได้น้อย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดใน ASEAN จากผลสำรวจของ Gini Index นอกจากนี้สถานการณ์ยังเลวร้ายมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้จำนวนคนยากจนในประเทศไทยเพิ่มเป็น 18.9 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วนกว่า ¼ ของประชาการทั้งประเทศเลยทีเดียว

กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่มีรายได้มากเพียงพอที่จะนำมาลงทุนกับการศึกษาได้อย่างเต็มที่ พวกเขาไม่สามารถซื้อคอร์สออนไลน์ หรือแทบเล็ตให้บุตรหลานเรียนในโรงเรียนอันดับต้น ๆ ของประเทศได้ และหากจะเอาตัวรอดจากการตกงาน ก็คงไม่สามารถจ่ายเงินเข้า workshop พัฒนาทักษะยุคศตวรรษที่ 21 ที่มีให้เห็นทั่วไปได้เช่นกัน และหากปล่อยไว้เช่นนี้ ประชากรกลุ่มนี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังตลอดไป

Startup เพื่อสังคมจึงเป็นทางรอดของคนกลุ่มนี้ หาก startup เริ่มจากเป้าหมายที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ย่อมมีโอกาสที่จะเจอโมเดลทางธุรกิจที่ทำให้สินค้าและบริการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ได้ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากได้

ในกรณีของ insKru ได้เปิดให้คุณครูสามารถเข้ามาใช้ platform ในการหาไอเดียใหม่ ๆ นำไปใช้ และมาพูดคุยกันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

เข้าถึงผู้ที่ขาดแคลนเทคโนโลยี

ปัจจุบัน การเรียนการสอนออนไลน์ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของโลกและประเทศไทย โรงเรียนมากมายเริ่มนำ content ออนไลน์มาประกอบการสอน และธุรกิจ platform เรียนออนไลน์ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน

ถึงอย่างไรก็ตาม นวัตกรรมเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงคนไทยทุกคนได้ ประชากรจำนวนมากของประเทศไทย ไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่เหมาะกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า 79% ของครัวเรือนในประเทศไทยไม่มีคอมพิวเตอร์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 51% เท่านั้น นอกจากนี้ 32% ของครัวเรือนในประเทศไทยไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

เมื่อคนกลุ่มนี้จะไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ Startup เพื่อสังคมจึกลายเป็นอีกหนึ่งความหวังของพวกเขา ที่จะนำเสนอทางออกที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสุดล้ำ แต่ยังช่วยแก้ปัญหาได้จริงได้

จากตัวอย่างของ insKru คุณครูสามารถเข้าถึงไอเดียการสอนผ่านทาง website และ Facebook ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหากเทียบกับจำนวนผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยที่มีอยู่ถึง 47 ล้านบัญชี ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้กว่าครึ่งของประเทศเลยทีเดียว

ขยายผลอย่างยั่งยืนได้

Startup เพื่อสังคมจะเริ่มต้นด้วยแนวคิดว่าจะต้องหาโมเดลทางธุรกิจ หารายได้ผ่านการขายสินค้าหรือบริการ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการ ขยายทีม ขยายฐานลูกค้าต่อไปให้ได้มากที่สุด เมื่อหาโมเดลที่ลงตัวได้แล้ว การขยายธุรกิจก็เป็นการขยายผลลัพธ์ทางสังคมไปพร้อม ๆ กัน ไม่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนเงินบริจาคหรือเงินสมทบทุน

ในตัวอย่างของ insKru ถึงแม้จะไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากคุณครูที่เป็นผู้ใช้หลักของ platform แต่สามารถสร้างรายได้หลักมาจากการสร้างและเผยแพร่ content ให้กับองค์กรที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มคุณครู ซึ่งทำให้ insKru สามารถแบ่งปันไอเดียไปแล้ว 1,400 ไอเดีย ถูกนำไปใช้ในห้องเรียนกว่า 18,000 ห้องเรียน และสร้าง impact กับเด็กๆกว่า 4.45 ล้านชีวิต

Social Impact Startup น่าจับตามอง! ช่วยลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

หากคุณสนใจสนับสนุน startup เพื่อสังคมด้านการศึกษา ห้ามพลาด! งาน Education Disruption Virtual Conference พบกับ Social Impact Startups Showcase งานเปิดตัวสตาร์ทอัพเพื่อสังคมที่จะมานำเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทยในรูปแบบใหม่มากมาย

Abi by Base Playhouse

Real-time Essential Skills Assessment Platform ระบบที่ช่วยให้นักเรียนอาชีวศึกษามองเห็น ‘ทักษะที่ขาดหายไป’ อย่าง soft skills และพัฒนาทักษะ soft skill ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้การหางานและประกอบอาชีพให้อนาคต

Dynamic School

โครงการพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนชายขอบ ให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้ โดยอิงจากบริบทของห้องเรียนและพื้นที่

Edverest

แพลตฟอร์มทุนการศึกษา ที่อยากจะมาทำลายกำแพงความเหลื่อมล้ำ ผ่านการรวบรวมและแนะนำทุนการศึกษาให้นักเรียนที่ขาดแคลนสามารถค้นพบทุนที่เหมาะกับตนเองได้ และช่วยให้บุคลลทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการสร้างทุนระดับบุคคลและติดตามผลการให้ทุนได้

Look n Say

แอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้เยาวชนผู้พิการหูหนวกสามารถฝึกออกเสียง เพื่อให้สื่อสารกับคนปกติที่ไม่รู้ภาษามือได้

Love to Read

โครงการส่งเสริมการอ่าน เพื่อให้ผู้ปกครองและครูศูนย์เด็กเล็กได้ใช้เวลาคุณภาพอ่านหนังสือกับเด็ก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในเด็กอายุ 0-3 ปี ช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้

Mindset Maker

แพลตฟอร์มจิตวิทยาเชิงบวก ที่จะมาให้ความรู้และติดอาวุธให้กับคุณครู ตามหลักแนวคิดของ positive psychology, growth mindset และ 24 character strengths เพื่อให้คุณครูสามารถมองเห็นคุณค่าของนักเรียนแต่ละคน ร่วมมือกันสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยให้นักเรียน ลดปัญหาภาวะซึมเศร้าและนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาได้

Vichanorksen

โครงการที่เปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนระบบการศึกษาได้โชว์ของและแบ่งปันเรื่องราวการเรียนรู้นอกเหนือจากความรู้ทางด้านวิชาการ

We Space

แพลตฟอร์มแนะแนวให้นักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อให้ค้นหาตัวเองเจอ และได้ทำอาชีพที่ชอบ เหมาะกับความชอบและทักษะที่มี

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง