AI อนาคตของการเรียนรู้ “Lifelong Learning” ที่องค์กรยุคใหม่ต้องการ

May 8, 2024
Chacha

AI อนาคตของการเรียนรู้ “Lifelong Learning” ที่องค์กรยุคใหม่ต้องการ

ปี 2024 ChatGPT หรือ Google Bard (ที่เปลี่ยนชื่อไปเป็น Gemini) เป็น Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ที่เข้ามาดิสรัปท์หลาย ๆ วงการ ไม่ว่าจะเป็นการแปลภาษา ซึ่ง ChatGPT สามารถแปลได้มากถึง 50 ภาษา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีภาษาไทยด้วยเช่นกัน 

AI เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ความสามารถด้านวิชาการเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยด้านการเรียนการสอนที่ถือว่าเป็นภาคส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ช้าเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่น ๆ การมาของ AI จึงช่วยเพิ่ม Productivity และพัฒนาผลการเรียนให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคนมากยิ่งขึ้น

ผลสำรวจ Forbes Advisor เผย กว่า 60% ของคุณครู 500 คนทั่วสหรัฐอเมริกา ใช้ AI ในห้องเรียน โดยคุณครูกว่า 5% ในสหรัฐอเมริกา ใช้ AI เป็นประจำ เพื่อเล่นเกม เป็นเครื่องมือปรับการสอนให้เข้ากับผู้เรียน (Adaptive Learning Platform) ตัดเกรดและให้ฟีดแบคนักเรียน ซึ่งคุณครูเกินครึ่งมองว่า AI เหล่านี้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนมากกว่าที่จะเป็นผลเสีย และมีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่มองว่า AI เหล่านี้จะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี

นอกจากนี้ในวงการ EdTech ก็มีการนำ AI เข้ามาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น

  • Duolingo: แอพเรียนภาษาชื่อดัง มีการใช้ AI เพื่อคัดสรรบทเรียนให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคน มีการใช้เทคโนโลยีจดจำเสียงพูด (Speech Recognition) เพื่อพัฒนาทักษะการพูดของผู้เรียนภาษา
  • Coursera: แพลตฟอร์มรวมคอร์สเรียนออนไลน์ที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล ความสนใจ และเป้าหมายของผู้เรียนเพื่อแนะนำคอร์สที่เหมาะสมที่สุด และยังมีการปรับลำดับให้เหมาะกับสไตล์และความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ยังมีระบบคิดคะแนนอัตโนมัติและให้ฟีดแบคอีกด้วย
  • ในประเทศไทยเองก็มีบริษัท EdTech ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ด้วย อย่างเช่น OpenDurian ที่มีการนำ AI เข้ามาใช้เพื่อคัดเลือกเนื้อหาให้เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงอายุ รวมถึงจะต้องใช้เวลากี่วันในการเรียนเนื้อหานั้น ๆ

AI กับการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning

AI มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การเรียนรู้จากข้อมูลได้ด้วยตนเอง (Machine Learning) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) AI จึงสามารถเสนอเนื้อหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการและระดับความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ แถมยังสามารถค้นหาและพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอาชีพและการเติบโตส่วนบุคคล โดยมีเทคนิคดังต่อไปนี้

1. กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของคุณ

ก่อนที่จะเริ่มต้น คุณจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของคุณให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะใหม่ การเพิ่มความรู้ในสาขาที่คุณสนใจ หรือการเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอาชีพของคุณ

2. ค้นหาแหล่งเรียนรู้ที่ใช้ AI

มีหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการเนื้อหาการเรียนรู้ที่ปรับเองตามความต้องการของผู้เรียนด้วย AI อาทิ Coursera, Udemy, หรือ Khan Academy เลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับเป้าหมายการเรียนรู้ของคุณ หรือสอบถามจาก ChatGPT หรือ Gemini ก็ได้นะ

3. ใช้ AI เพื่อสร้างแผนการเรียนรู้ของตนเอง

การใช้ AI ในการวิเคราะห์ความสนใจ ระดับความรู้ และเวลาที่คุณมี จากนั้น AI จะช่วยสร้างแผนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด

4. ใช้เครื่องมือ AI เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

เครื่องมือ AI เช่น chatbots หรือ virtual assistants สามารถให้คำแนะนำ ตอบคำถาม หรือแม้กระทั่งช่วยทบทวนเนื้อหาที่คุณเรียนไปแล้วได้

5. ทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการเรียนรู้

AI สามารถช่วยวิเคราะห์ความคืบหน้าและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของคุณ และใช้ข้อมูลนี้เพื่อทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับคุณมากยิ่งขึ้น

6. เข้าร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้

การเชื่อมต่อกับผู้เรียนคนอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกันสามารถเพิ่มแรงจูงใจและเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ได้ ใช้แพลตฟอร์มเช่น LinkedIn, Facebook groups หรือ forums ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่คุณสนใจ

การเริ่มต้น Lifelong Learning ด้วย AI ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณสามารถพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังเป็นการเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอนาคต 

ความกังวลต่อการใช้ AI ในระบบการศึกษา

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการใช้ AI ในแวดวงวิชาการและการศึกษากันอย่างเป็นวงกว้างมากขึ้น ทั้งในระดับผู้ออกแบบการเรียนการสอนหรือผู้สอน (Educator) ผู้ประเมินผล (Assessor) และตัวนักเรียนเอง แต่ก็ยังมีข้อกังวลมากมายที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดลอกคำตอบจาก ChatGPT หรือ Gemini มาใช้ในการเขียนเรียงความ ซึ่งมีคุณครูกว่าร้อยละ 65 ที่มีกังวลถึงข้อนี้ และยังคิดว่า AI จะลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลลงด้วย และคุณครูในจำนวนเท่า ๆ กัน คิดว่านักเรียนมีการใช้ AI เพื่อเขียนเรียงความ หรือการบ้านอื่น ๆ รวมถึงใช้ในการทุจริตระหว่างการสอบอีกด้วย

อนาคตของ AI ในวงการศึกษา

อนาคตของ AI ในวงการศึกษาจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงคุณครูควรร่วมพูดคุยถึงขอบเขตของการใช้เครื่องมืออันทรงพลังนี้อย่างมีให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพสูงสุด อาจารย์ไม่ควรห้ามนักเรียนไม่ให้ใช้ AI ในการเรียน แต่ควรเน้นให้ทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมที่ต้องการการมีส่วนร่วมในห้องเรียนและใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น รวมถึงอาจจะใช้เครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบการคัดลอกผลงาน หรือตรวจจับว่าใช้ AI ในการเขียนหรือไม่ และมีมาตรการที่เหมาะสมในการรับมือกับพฤติกรรมเหล่านี้

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีทางออกที่แน่นอนและตายตัว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เป็นเครื่องมือที่ทุกคนควรเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับมันมากกว่าที่จะหวาดกลัวต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามา จนสุดท้ายกลายเป็นผู้ที่ตามไม่ทันและหยุดอยู่กับที่ ในขณะที่ตลาดแรงงานปรับเปลี่ยนไปในทุก ๆ วัน งานหลาย ๆ อย่างถูกปรับให้เป็นระบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้แรงงานคน การเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาควรกระตุ้นและแนะแนวทางให้กับผู้เรียนที่ตนเองดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขารู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออาชีพในอนาคตได้ 

ดังที่ศ.ดร.อานันธา ดูไรอัปพาห์ ผู้อำนวยการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development: MGIFP) กล่าวไว้ว่า

“ผมอยากจะเน้นย้ำ อย่าเพิ่งกลัวคำว่า AI เราต้องระลึกไว้เสมอว่าเป้าหมายของการศึกษาคืออะไร คือการทำให้มนุษยชาติงอกงาม โดยมี AI เป็นตัวช่วย นอกจากนี้เราต้องสร้างหลักคิดด้านจริยธรรมในผู้เรียน เพื่อใช้ AI ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และมันจะทำให้เราใช้ AI ไปสู่จุดที่เราไม่เคยไปถึงมาก่อน”

ขอบคุณบทความดีๆ จาก

  • Adiguzel, T., Kaya, M. H., & Cansu, F. K. (2023). Revolutionizing education with AI: Exploring the transformative potential of ChatGPT. Contemporary Educational Technology, 15(3), ep429. https://doi.org/10.30935/cedtech/13152
  • https://www.the101.world/ai-for-teaching-and-learning/
  • https://www.forbes.com/advisor/education/it-and-tech/artificial-intelligence-in-school/
  • https://www.zdnet.com/article/openai-unveils-16-custom-chatgpt-bots-to-help-you-with-specific-tasks/
  • https://lordewin.medium.com/how-ai-can-transform-in-education-and-research-d19964356837
  • https://thestandard.co/chatgpt-disrupt-tech/
  • https://www.thenationalnews.com/opinion/comment/education-system-needs-to-adapt-to-a-fast-changing-world-1.473481

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง