อยากได้นวัตกรรมดี ๆ ต้องเริ่มตัดคำว่า ’ดี’ ออกก่อน (Part 1)

February 22, 2022
Gail Ratanasopinswat

“If you want good innovation, start with cutting out the word ‘good’”

ประโยคที่ยังคงอยู่ในใจผู้เขียนตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เริ่มเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัย Stanford โดยอาจารย์ William Barnett ผู้สอนวิชา Strategy อันโด่งดัง

ในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) ที่ขณะนี้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนต่างล้วนพูดถึงการ Disruption และความสำคัญของการสร้างนวัตกรรม

คำว่า Disrupt หากแปลตรงตัว หมายถึง การขัดขวางหรือทำให้หยุดชะงัก เมื่อพูดถึง Disruption หลายคนเห็นภาพความปั่นป่วน หรือ พังทลาย แต่แท้จริงแล้ว ในทางธุรกิจ คำนี้ไม่ได้มีความหมายเชิงลบ แต่หมายถึงปรากฏการณ์ที่ปลาเล็กสามารถขึ้นมากินปลาใหญ่ หรือเกิดการฉีกกฎที่มีอยู่ในตลาดด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งเรียกว่า Disruptive Innovation ดังนั้นจึงมีกระแสการตื่นตัวจากปลาใหญ่หรือบริษัทยักษ์ใหญ่เกือบทุกบริษัททั่วโลก ที่ต้องลุกขึ้นมาปรับองค์กรเพื่อให้สามารถตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงและมีการผลักดันนวัตกรรมมากขึ้น

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้บริษัทชั้นนำของโลกมาหลายบริษัทและหลายอุตสาหกรรม พบว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่เป็นผู้ครองตลาดเดิม (Traditional Business) ล้วนตระหนักถึงภัยเงียบจากการดิสรัปของผู้เล่นรายใหม่ (Disruptive Business) และต่างตบเท้าทะยอยเข้ามาเพื่อร้องขอให้บริษัทที่ปรึกษา (Management Consulting) ช่วยสร้างนวัตกรรมที่จะทำให้ธุรกิจของตนสามารถรอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ โดยคำที่ผู้เขียนได้ยินบ่อยมากที่สุดก็คือ

“CEO/บอร์ด บอกว่าปีนี้อยากให้มีนวัตกรรมดี ๆ ออกมาสักชิ้น ควรเริ่มยังไงดี?”
“อยากได้นวัตกรรมเจ๋ง ๆ ต้องทำยังไงให้ทีมคิดไอเดียดี ๆ ออกมา”

ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้น จากคำพูดของอาจารย์ William ผู้เลื่องชื่อแห่งมหาวิทยาลัย Stanford ว่า หากเริ่มต้นด้วยคำว่านวัตกรรมดี ๆ ก็ถือว่าเริ่มต้นก้าวแรกผิดไปแล้วครึ่งนึง เพราะความหมายดั้งเดิมของคำว่านวัตกรรม หรือ Innovation คือ สิ่งใหม่ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะดีหรือไม่ดี จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ซึ่งอาจารย์ William บอกว่าจากประสบการณ์กว่า 30 ปีของท่าน พบว่า สาเหตุอันดับ 1 ที่บริษัทขนาดใหญ่ล้มเหลวในการสร้างสรรค์นวัตกรรม นั่นคือการที่ผู้บริหารของบริษัทคาดหวังความสำเร็จหรือความสมบูรณ์จากนวัตกรรมเร็วเกินไป โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ไอเดียใหม่ ๆ ได้เติบโต แตกแขนง และต่อยอดซึ่งกันและกัน

อาจารย์ William ได้พูดต่ออีกว่า ถ้าทุกคนรู้ว่าสิ่งใหม่นั้นจะต้องดีแน่ ๆ ก็คงมีคนทำไปก่อนนานแล้ว และมันก็จะไม่ได้เป็นนวัตกรรมหรือดิสรัปชั่นอะไรเลย แต่เป็นเพียงแค่การพัฒนาหรือปรับปรุงเท่านั้น (Incremental Change) ดังนั้น พื้นฐานของคำว่านวัตกรรม อาจารย์ William บอกว่า ต้องมีคนอย่างน้อยกลุ่มนึงที่มีความสงสัยว่า “มันจะเป็นไปได้หรอ” หรือ “จะมีคนใช้ไหม” หากทุกคนเห็นด้วยกับไอเดียนี้หมด แสดงว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งใหม่จริง ๆ (If it is obviously good, someone must have already done it)

ฉะนั้นการที่ผู้บริหารไปตั้งโจทย์กับพนักงานว่าให้ทำนวัตกรรมดี ๆ ออกมา จึงเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ แถมยังสร้างความกดดันให้กับพนักงาน เหมือนกันกับว่า หากเราต้องระดมสมอง หรือ Brainstorm อะไรสักอย่าง แล้วมีคนบอกว่าขอไอเดียดี ๆ หน่อยสิ เราก็จะรู้สึกว่าเราต้องคิดให้ครบ หรือให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนว่าไอเดียของเรามันดีจริง ๆ หรือเปล่า ก่อนที่จะนำเสนอออกมา ซึ่งในกระบวนการ Design Thinking ก็มีการแก้ปัญหานี้ด้วยการแยก “กระบวนการระดมสมอง (Brainstorm & Ideation)” เพื่อให้คนได้ฝัน ฟุ้ง และคิดนอกกรอบ ออกจาก “กระบวนการประเมินไอเดีย (Evaluation)” อย่างชัดเจน กล่าวคือ ในระหว่างที่มีการระดมสมอง จะไม่มีการประเมินว่าไอเดียนี้ดีหรือไม่ดี โดยไอเดียทุกอันที่ถูกเสนอออกมาจะถูกรับไว้อย่างจริงจัง (Taken seriously) และถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (Treated Equally) เรียกได้ว่า ไม่มีไอเดียอันไหนบ้าเกินจริง (There is no crazy idea) 

ยิ่งไปกว่านั้น หากต้องการไอเดียที่นอกกรอบและว้าวจริง ๆ อาจจะต้องมีการสร้างบรรยากาศในการระดมสมองให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่า ไอเดียยิ่งบ้ายิ่งดี  ตอนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเรียนที่ Stanford d.School ต้นกำเนิดแห่งศาสตร์ Design Thinking เคยมีอาจารย์ท่านนึงได้กล่าวไว้ว่า “If it doesn’t scare your boss in the slightest, then the idea is not crazy enough” (ถ้าไอเดียนี้ไม่ทำให้เจ้านายของคุณกังวลเลยแม้แต่น้อย แสดงว่ามันยังไม่บ้ามากพอ)

หลาย ๆ คนอาจจะไม่ทราบว่านวัตกรรม ‘เปลี่ยนโลก’ อย่าง iPhone ก็เคยอยู่ในจุดที่มีแต่คนสงสัยและปรามาสไว้อย่างมากมาย ตั้งแต่เพิ่งเริ่มเปิดตัวออกมา ตอนที่ Steve Jobs ตัดสินใจที่จะเอาคีย์บอร์ดออกจากโทรศัพท์ทั้งหมดและเหลือไว้เพียงแค่หน้าจอเกลี้ยง ๆ หลายคนมองว่ามันเป็นไอเดียที่บ้ามาก ๆ สำหรับโทรศัพท์ในยุคที่ใคร ๆ ต่างก็ใช้คีย์บอร์ดเป็นหลักในการพิมพ์แชท แม้แต่ CEO ของบริษัทคู่แข่งในตอนนั้น อย่าง Microsoft และ Blackberry ก็ได้มีการประกาศออกสื่อว่า iPhone จะต้องล้มไม่เป็นท่า และไม่มีทางจะขึ้นมากินส่วนแบ่งตลาดอย่างมหาศาลเหมือนที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

หลังจากที่จบคลาสแรกกับอาจารย์ William ผู้เขียนจึงจำได้ขึ้นใจว่า นวัตกรรม ไม่มีคำว่าดีหรือไม่ดี นวัตกรรมก็คือนวัตกรรม อาจจะมีบางนวัตกรรมที่สุดท้ายตายจากไปในที่สุด หรือบางนวัตกรรมที่ผุดขึ้นมาจนกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่อันใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงโลกในระดับเดียวกับ iPhone แต่หากมองกลับมาที่ตัวเราเอง ในขณะที่เรากำลังสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมานั้น แน่นอนว่าเราจะยังไม่มีทางรู้ได้ว่าจะออกหัวหรือก้อย ฉะนั้น สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ การทดสอบนวัตกรรม หรือไอเดียของเรา ในตลาดจริงให้เร็วที่สุดและในราคาที่ถูกที่สุด อย่างที่ชาว Design Thinking มักพูดเสมอว่า “Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward” หรือ ล้มให้เร็ว ล้มแบบประหยัด และล้มเพื่อก้าวไปข้างหน้าหรือให้เกิดการเรียนรู้นั่นเอง

โดยสรุปคือ หากท่านเป็นผู้บริหารที่อยากจะผลักดันนวัตกรรมในองค์กร ต้องเริ่มจากการลดความคาดหวังในเรื่องความสำเร็จและความกดดันในด้านการเงิน พยายามสร้างบรรยากาศในองค์กรให้พนักงานรู้สึกตื่นเต้นและท้าทายที่จะได้ลองไอเดียใหม่ ๆ และต้องไม่กลัวการล้มเหลวที่เกิดจากการทดสอบนวัตกรรม เพราะหน้าที่ของท่านไม่ใช่การตัดสินไอเดีย แต่เป็นการช่วยให้ไอเดียที่มีศักยภาพได้มีโอกาสเติบโตและ Have a fair shot to succeed in the real market!

สำหรับใครที่อยากรู้แล้วว่า จุดกำเนิดของไอเดียว้าว ๆ ที่กลายมาเป็นนวัตกรรมที่ดีได้นั้นมาจากไหน? สามารถติดตามต่อกันได้ใน part 2

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง