ตำแหน่งงานที่เสี่ยงถูก disrupt ด้วย AI

December 28, 2020
Pat Thitipattakul

โลกแห่งการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยเร่งที่รุนแรงหลายประการทั้ง Covid-19 และ AI ผสมผสานกับการปรับตัวสู่ทำงานแบบ remote working ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้หลายองค์กรเริ่มตื่นตัว มีการปรับโครงสร้างเป็นรูปแบบใหม่

ในปีนี้ Faethm ได้ร่วมกับ MIT ทำการวิจัยเพื่อระบุผลกระทบของ Covid-19 และ AI ต่อ Workforce และทำโมเดลวิเคราะห์ตำแหน่งงานว่าตำแหน่งไหนบ้างที่สามารถใช้ AI ช่วยได้? ตำแหน่งงานใดที่ AI สามารถทำแทนได้ทั้งหมด? ตำแหน่งไหนที่สามารถทำงานแบบ remote ได้? ซึ่ง Faethm เป็นแพลตฟอร์ม AI วิเคราะห์ข้อมูล workforce ที่ภาครัฐและบริษัทชั้นนำทั่วโลกใช้ในการวาง strategy กำหนดนโยบาย แพลตฟอร์มขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Machine Learning ดึงข้อมูลกว่า 160 ล้านจุดมาสร้างโมเดลในการทำนายผลกระทบของ disruption ต่อตำแหน่งงาน คาดการณ์รูปแบบ workforce แห่งอนาคต และช่วยหน่วยงานวางแผนการ upskill และ reskill

ในปี 2018 มีองค์กรประมาณ 3.2% เท่านั้นที่มีการทำงานแบบ remote แต่ในปี 2020 นี้ เพราะมี Covid-19 ทำให้องค์กรมากถึง 80% ต้องปรับมาสู่ remote working เดิมองค์กรบางส่วนคิดว่าไม่สามารถทำงานรูปแบบนี้ได้ แต่เมื่อสถานการณ์ Covid-19 บังคับให้ทุกคนต้องปรับตัว องค์กรก็ได้พบว่างานบางส่วนจริง ๆ สามารถทำแบบ remote ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน บางงานมี productivity มากขึ้นเสียด้วย เรื่องนี้ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ remote working จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกการทำงานแห่งอนาคต 

ทุกที่คือออฟฟิศ - ตำแหน่งงานใดบ้างที่สามารถทำงานแบบ remote ได้?

จากการวิเคราะห์โครงสร้างตำแหน่งงานกว่า 1,000 ตำแหน่ง Faethm ชี้ว่างานที่สามารถปรับมาเป็นแบบ remote ได้ ได้แก่ บัญชี, งานธุรการ, Customer Service, Sales, Operation, เลขานุการ เนื้องานเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นต้องพบปะผู้คนเสมอไป สามารถติดต่อประสานงานผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ องค์กรเพียงแค่ต้องมีระบบการจัดการงาน ระบบการจัดการข้อมูลที่ดี เปิดให้เชื่อม VPN ก็จะสามารถเปลี่ยนมาเป็น remote ได้

มนุษย์และ AI ทำงานร่วมกัน - ตำแหน่งงานใดบ้างที่ AI จะเข้ามาช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น?

ตำแหน่งงานที่จะได้รับผลประโยชน์จากความก้าวหน้าของ AI ส่วนมากจะเป็นอาชีพในกลุ่ม Healthcare เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เพราะการทำงานเหล่านี้ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ยังไงก็ต้องใช้ทักษะการตัดสินใจของมนุษย์ และต้องใช้ความเข้าอกเข้าใจ ใช้ทักษะ soft skills ในการสื่อสารและการดูแลผู้ป่วย ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่หุ่นยนต์สามารถช่วยได้ คือ ช่วยแพทย์และพยาบาลวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการวินิจฉัยจากคลังข้อมูลจำนวนมหาศาล ช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมคนไข้ ช่วยเป็นเครื่องมือคัดกรองผู้ป่วย ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับคนไข้ที่ไหนก็ได้บนโลก และอีกมากมาย ทำให้บุคลากรอาชีพ Healthcare ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ยังมีกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่จะได้ประโยชน์อีกด้วย เช่น 

  • รปภ. ตำรวจ และผู้ควบคุมผู้ต้องขัง เดิมทีต้องใช้เวลามากในการตรวจตรา ดูแลความปลอดภัย ซึ่งมนุษย์มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา แต่ AI สามารถทำ image recognition ช่วยแจ้งเตือนความเสี่ยงได้หากระบบพบเห็นสิ่งผิดปกติ หรือ พฤติกรรมน่าสงสัย ทำให้ รปภ. และตำรวจสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ใช้เวลาทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • คุณครู และพี่เลี้ยงดูแลเด็ก เป็นอีกอาชีพที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์ ต้องใช้ human connection สูง การดูแลเด็กหลาย ๆ คนในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความใส่ใจสูงมาก คุณครูต้องมีเวลาในการสร้างความสัมพันธ์และทำความรู้จักเด็กแต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากด้วยภาระหน้าที่ที่ล้น AI จึงสามารถเข้ามาเป็นผู้ช่วยได้โดยลดงาน routine ของคุณครู ช่วยงานเอกสาร สร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการเรียน และสามารถเป็นเครื่องมือช่วยสอนได้ด้วย

เมื่อ AI แย่งงาน - ตำแหน่งงานใดบ้างที่อาจถูกทดแทนด้วย AI?

ตำแหน่งที่เสี่ยงถูก AI แย่งงานมากที่สุด ได้แก่ คนขับรถ พนักงานร้านอาหาร แคชเชียร์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นงานที่มีกระบวนการทำงานแบบซ้ำ ๆ จึงทำให้มีโอกาสถูก automate ได้สูง ทุกวันนี้เองเราก็เริ่มได้เห็นเทรนด์นี้แล้วจากการพัฒนา autonomous car การพัฒนาหุ่นยนต์ทำอาหาร หุ่นยนต์และโดรนจัดส่งอาหาร ระบบสั่งอาหารแบบที่ลูกค้าสามารถสั่งได้เอง หากเทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มก้าวไกลและพัฒนาไปจนเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น แน่นอนว่าตำแหน่งงานดังกล่าวก็จะลดลง 

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในเรื่องเศรษฐกิจด้วย องค์กรจึงพยายามลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ Retail ค้าปลีก กลุ่มร้านอาหาร จึงเริ่มมีเทรนด์การจ้างงานที่ลดลง ลดจำนวนพนักงานต่อ 1 สาขา แล้วเปลี่ยนมาลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น

แม้อนาคตจะดูไม่แน่นอนสำหรับอาชีพบางกลุ่ม แต่ทาง Fathem เชื่อมั่นว่ายังมีความหวัง เพราะเทคโนโลยีจะทำให้บางงานหายไปก็จริง แต่ก็จะเกิดโอกาสใหม่ อาชีพใหม่ ด้วยเช่นกัน คนทุกคนสามารถ reskill เพื่อเปลี่ยนอาชีพได้ เช่น นักบัญชี หากถูกระบบ RPA (Robotic Process Automation) แย่งงาน ก็สามารถ reskill ไปทำด้าน cybersecurity ได้ โดยต่อยอดจากทักษะที่มีอยู่แล้วในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลภายในองค์กร

ความตั้งใจของ Fathem คือการเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะรวบรวม actionable insights ที่จะช่วยให้ภาครัฐและองค์กรมีข้อมูลที่ทันสมัยไปใช้วางแผนการพัฒนากำลังคน แทนที่องค์กรจะต้องไล่คนออก เปลี่ยนมุมมองมาเป็นว่า ผู้บริหารและ HR ควรจะต้องออกแบบการเรียนรู้ในองค์กรอย่างไรในวันนี้เพื่อให้คนกลุ่มนี้

สามารถ reskill เปลี่ยนไปทำตำแหน่งอื่นในองค์กรได้ในอนาคตอันใกล้ ในมุมของภาครัฐ ก็สามารถจัดทำโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลในสาขาที่ขาด เปิดให้เรียนฟรี ช่วยเหลือคนตกงาน ซึ่งจะสร้าง impact ต่อสังคมได้มาก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://faethm.ai/
https://www.technologyreview.com/

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง