สื่อสารอย่างไรให้ลูกน้องรักและเคารพ

January 20, 2021
Patch Rawanghet

หากขาดทักษะในการสื่อสาร ความรู้ความสามารถก็ไร้ประโยชน์!

ในยุคที่ความต้องการของแรงงานเปลี่ยนไป หากคุณเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สามารถสื่อสารให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจได้ คุณอาจกลายเป็นคนเก่งที่ไม่เก่งไปโดยปริยาย การสื่อสารจึงเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของทักษะที่ควรมีในยุคที่เทคโนโลยีก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตมนุษย์ การสื่อสารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย อีเมล และ instant message อย่าง แอปพลิเคชันไลน์ ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการก้าวสู่ความสำเร็จของโลกในทศวรรษนี้

ทำไมทักษะการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญของผู้นำองค์กร

การเป็นผู้นำในยุคนี้ แค่เพียงมีความรู้ในแวดวงที่ทำงานอยู่อาจไม่เพียงพออีกต่อไป การเป็นหัวหน้ามาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ต้องดูแลปกครองผู้อื่น หากหัวหน้าไม่สามารถเป็นเสาหลักให้ทีมได้ เส้นทางเดินของทีมก็อาจบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลกระทบต่องานที่มีโอกาสผิดพลาดมากขึ้น ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ซึ่งนอกเหนือจากการสื่อสารกับลูกน้องเพื่อให้เข้าใจตรงกันและคว้าเป้าหมายที่เราต้องการได้แล้วนั้น คนที่เป็นหัวหน้ายังต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจ เพื่อขับเคลื่อนให้ลูกน้องมีกำลังใจในการทำงาน และพร้อมที่จะซัปพอร์ตซึ่งกันและกันเพื่อก้าวต่อไปยังจุดหมายข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

นอกจากการสื่อสารภายในองค์กรเองแล้ว หัวหน้ายังต้องสื่อสารกับคนภายนอกอีกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Marketing team ที่ต้องออกแบบ Branding ของสินค้า ซึ่งถือเป็นการสื่อสารภายนอกอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคนที่เป็นหัวหน้า หากสื่อสารคลาดเคลื่อนกับสิ่งที่มุ่งหวังไว้ ก็อาจทำให้เกิดความเสียหาย และอาจเสียลูกค้าไปได้ในที่สุด

พูดเก่ง ≠ สื่อสารเก่ง

หากกล่าวถึงทักษะในการสื่อสาร เชื่อว่าภาพของนักพูดจะลอยขึ้นมาในหัวของหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็น Barack Obama, Oprah Winfrey หรือ Ellen ที่สามารถยืนบนเวทีด้วยความมั่นใจ และมีน้ำเสียงที่ทรงพลัง สามารถสะกดผู้ฟังไว้ได้อย่างอยู่หมัด แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการสื่อสาร การสื่อสารแท้จริงแล้วเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนที่ผู้สื่อสารจะเปล่งเสียงออกมาเสียอีก การสื่อสารมีหลากหลายรูปแบบ แม้กระทั่งการแต่งตัวให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ก็ถือเป็นการสื่อสารต่อผู้อื่นเช่นกัน เพราะถ้าหากเราแต่งกายไม่สุภาพ คนอื่นอาจมองว่าเราไม่ให้ความเคารพต่อสถานที่หรือต่อผู้คนในสถานที่นั้น และนี่ถือเป็นตัวอย่างของการสื่อสารที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่คำพูด

คุณรู้หรือไม่ว่า การสื่อสารมากกว่า 70% เกิดขึ้นโดยไม่มีคำพูด ไม่เพียงแต่การแต่งกายเท่านั้นที่ถือเป็นการสื่อสาร แต่ body language ทั้งหมด เช่น การยืน การนั่ง  eye contact รวมถึงพลังงานที่ส่งให้คนฟัง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร นอกจากนั้นแล้ว การใส่ใจกับคนตรงหน้าก็เป็นสิ่งสำคัญ การทำให้คนตรงหน้ารู้สึกได้รับความสำคัญเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการสื่อสาร อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนละเลยในการสื่อสารคือสิ่งที่ง่ายที่สุด นั่นคือ “การรับฟัง”

การฟัง เป็นทักษะที่เหมือนจะไม่ต้องพยายาม แต่การฟังและการได้ยินนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การได้ยินคือการที่เสียงเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่การฟังอย่างตั้งใจ หรือที่บางคนอาจคุ้นหูในชื่อ “active listening” เป็นการให้เกียรติคนตรงหน้า และตั้งใจฟังข้อมูลทุกอย่าง ใส่ใจในรายละเอียด ทุกคำพูดที่คนตรงหน้าได้กล่าว และไม่ได้กล่าว คนหลายคนหลงลืมการฟังแบบ active listening เพราะมัวแต่คิดว่า “ฉันจะพูดอะไรต่อไปดีนะ?” ทำให้การสื่อสารไปไม่ถึงประสิทธิภาพสูงสุด

อีก 30% ที่เหลือ คือ น้ำเสียงและเนื้อหา การเลือกใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้ฟัง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการสื่อสารให้บรรลุเป้าหมาย เนื้อหาที่กล่าวถึงในที่นี้ยังรวมถึงคำศัพท์ที่ใช้ในการเล่าเรื่อง คำบางคำอาจถูกตีความจากคนสองคนได้แตกต่างกัน ดังนั้นผู้สื่อสารต้องเลือกใช้คำอย่างเหมาะสม และบางครั้งการเลือกใช้คำอาจส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ฟังที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์ที่หนึ่ง เจ้านายกล่าวว่า “ผมชอบงานพรีเซนท์ของคุณมาก แต่คุณควรจะแก้ตรงสรุปนะ” กับในตัวอย่างที่สอง ที่เจ้านายกล่าวว่า “ผมชอบงานพรีเซนท์ของคุณมาก ช่วยเพิ่มสรุปตามคอมเมนต์นะ” ในสองสถานการณ์นี้ สามารถบรรลุเป้าหมายเดียวกันได้ คือการแก้ไขตรงสรุป แต่คุณคิดว่าประโยคไหนที่ซื้อใจลูกน้องให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไปได้?

อยากเป็นหัวหน้าที่สามารถซื้อใจลูกน้องได้ ต้องทำยังไง

Maya Angelou ได้กล่าวไว้ว่า “ฉันได้เรียนรู้ว่า ผู้คนจะลืมในสิ่งที่คุณได้พูด จะลืมในสิ่งที่คุณได้ทำ แต่จะไม่เคยลืมว่าคุณได้ทำให้พวกเขารู้สึกเช่นไร”

การจะซื้อใจลูกน้องได้ ต้องใส่ใจถึงความรู้สึกของลูกน้อง การรับฟังอย่างตั้งใจจะทำให้เราเล็งเห็นการสื่อสารที่ไม่ได้เกิดขึ้นผ่านทางคำพูด และสามารถทำให้เราเข้าใจถึงความต้องการของเขาได้มากยิ่งขึ้น หัวหน้าอาจถูกมองว่าเป็นตำแหน่งที่ควรออกคำสั่ง แต่หากอยากเป็นหัวหน้าที่ดีนั้น ควรรับฟังให้มากยิ่งขึ้น

ผู้นำที่เก่งและเป็นที่นับถือ เป็นคนที่มีสามารถสร้างแรงบันดาลใจและความมั่นใจให้กับคนอื่นได้ ผู้นำเหล่านั้นมักไม่ลืมการรับฟังผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น คุณกระทิง พูนผล ประธานบริษัท KBTG ที่ทำ deep listening กับทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคอยรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังได้ไอเดียไปพัฒนาบริษัทเพื่อให้ตอบโจทย์คนทำงานจริง ๆ ด้วยการก่อตั้ง DevX - Development Excellence & Developer Experience ขึ้นมา

คนส่วนมากต้องการเป็นที่ยอมรับ และต้องการได้รับการใส่ใจ การเป็นหัวหน้าที่ดีต้องเข้าใจความต้องการของลูกน้อง เพราะบางครั้งสิ่งที่ลูกน้องต้องการอาจไม่ใช่แค่ โบนัสปลายปี การปรับเงินเดือน หรือ Promotion แต่การได้รับคำชมในผลงานที่ออกมาดีจากหัวหน้างาน นั่นก็ทำให้หัวใจของลูกน้องพองโตขึ้นได้มากเลยทีเดียว

'จุดเริ่มต้นของทีมที่มั่นคงและยั่งยืน อาจเริ่มต้นเพียงแค่การสื่อสารที่ดีของผู้นำแค่นั้นเอง'

สำหรับใครที่อยากเรียนรู้ skills ในการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมรับมือกับโลกในทศวรรษใหม่นี้ ห้ามพลาด! โปรแกรม CXO - Chief Exponential Officer หลักสูตรเพื่อการ Transform ผู้นำและองค์กรให้อยู่รอดในยุค Continuous Disruption โดย คุณกระทิง พูนผล อ่านรายละเอียด คลิก https://www.disruptignite.com

#CXO #TheNextCXO


Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง