จับความเคลื่อนไหว EdTech Ecosystem ในประเทศไทยหลังปี 2021

November 16, 2021
Yui Jantanarak

ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ในอาเซียนที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสตาร์ทอัพที่น่าสนใจหลากหลาย Industry เช่น Finance, E-commerce, Logistics และอีกมากมาย เรามียูนิคอร์นไทยเกิดขึ้นอย่าง Flash Express และยังมีอีกหลายบริษัทที่เตรียมจ่อ exit ในปีหน้าอย่าง Pomelo ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะช่วยให้เกิด ecosystem ของสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งขึ้น เกิดการแบ่งปันความรู้ การร่วมมือกัน และการร่วมกันพัฒนาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ในอุตสาหกรรมการศึกษานั้น กลับพบว่าที่ผ่านมาสตาร์ทอัพด้านการศึกษา (EdTech Startup) ในไทยยังไม่ร้อนแรงหรือเป็นที่จับตาในกลุ่มนักลงทุนหรือคนทั่วไปมากนัก

โควิดทุบสถิติ! ปรากฏการณ์กำเนิด EdTech Unicorn ทั่วโลก

ทางฝั่งของประเทศแถบสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รวมถึง Southeast Asia มีสตาร์ทอัพด้านการศึกษาเกิดขึ้นมากมาย และมีการเติบโตเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีของโควิด-19 ได้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการกำเนิดของ EdTech ระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณสามหมื่นล้านบาท) มากที่สุด เนื่องจากพฤติกรรมผู้เรียนและผู้สอนถูกผลักดันให้เปลี่ยนแปลงจากการ Lockdown โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเปิดคลาสเรียน online และต้องทำงานโดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ จาก EdTech มากขึ้น ซึ่งแม้ว่าอนาคตโควิดจะหมดไป แต่พฤติกรรมหลายอย่างจะยังคงติดตัวตามมาด้วย ส่งผลให้ EdTech เป็นที่สนใจและเนื้อหอมในกลุ่มนักลงทุนมากขึ้นทันที อีกทั้งผู้ประกอบการและบริษัทใหญ่ ๆ ต่างก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาคน อัพสกิล รีสกิลพนักงานให้คุ้นชินกับการพัฒนาทักษะผ่านการเทรนออนไลน์ รวมถึงได้มีการ explore partnership, ทดลองผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีการ synergy และลงทุนใน EdTech เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ในช่วง 2 ปีล่าสุดมานี้ มูลค่า (Valuation) ของ Edtech Startup สร้างสถิติใหม่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยปัจจุบัน (ตุลาคม 2564) เกิดปรากฏการณ์ที่มี EdTech Unicorns เกิดขึ้นมากถึง 33 บริษัททั่วโลก ยกตัวอย่างยูนิคอร์นเกิดใหม่ ได้แก่

- Degreed แพลตฟอร์มจากอเมริกาเพื่ออัพสกิลให้กับคนในองค์กรเพื่อพัฒนาสกิลแห่งอนาคต ที่มาพร้อมกับ real-time insight เพื่อให้ผู้บริหาร หรือ HR มองเห็น skill ต่าง ๆ และ match งานที่เหมาะสมได้

Outschool  marketplace สำหรับการศึกษาทางเลือกใหม่นอกโรงเรียน มีคลาสน่าสนใจให้เลือกเรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตั้งแต่การสอนเด็ก ๆ ร้องเพลง/เล่นกีตาร์ การสอนเรื่องระบบต่าง ๆ ของรถยนต์  ไปจนถึงการสอน coding

- ในขณะที่ฝั่งเอเชียก็มี ByJu’s ระบบการเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียน K-12 จากอินเดีย ที่เติบโตจนเป็นยูนิคอร์นในช่วงโควิด

- Ruangguru แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับ K-12 สัญชาติอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น super app ด้านการศึกษาที่มีผู้ใช้งานมากถึง 17 ล้าน users, มีครูในระบบมากกว่า 300,000 คน ถือเป็นหนึ่งใน EdTech ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าเข้าใกล้ระดับยูนิคอร์นแล้วเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าแต่ละภูมิภาคนั้น ก็มี focus ที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มนอร์ดิก-บอลติก อย่างในประเทศฟินแลนด์ที่โดดเด่นเรื่องการศึกษา EdTech ส่วนมากจะโฟกัสไปที่วิธีการเรียนการสอนและการสนับสนุนครู รวมถึงการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน โดยบาง EdTech สามารถเติบโตได้ดีในประเทศบางกลุ่ม แต่ก็มีบ้างที่อาจไม่ค่อยได้รับความนิยมในบางประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของระบบการศึกษาในแต่ละที่ ซึ่งจุดนี้ถือเป็น challenge ของการสเกล EdTech ในระดับภูมิภาคเช่นกัน

10 ปีที่ผ่านมา EdTech ไทย อยู่ตรงไหนของ Ecosystem

หากเราย้อนกลับมาดู Startup Ecosystem บ้านเรา ที่เพิ่งถือกำเนิดด้วยอายุเพียง 10 ขวบ ไม่เพียงเท่านั้น สตาร์ทอัพด้านการศึกษายังเริ่มต้นช้ากว่า และตามหลังประเทศอื่นอยู่อีกมาก รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุน Venture Capital (VC) ที่ผ่านมา ก็ยังไปกองอยู่ใน industry อื่นที่ร้อนแรงอย่าง Fintech, Logistics, E-commerce เนื่องจากที่ผ่านมาการทำธุรกิจ EdTech Startup ในประเทศไทย ถูกนักลงทุนมองว่ายากและมีอุปสรรคเยอะ มีหลายปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความพร้อมของตลาด การเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, อินเตอร์เน็ต รวมถึงปัญหาการศึกษาของประเทศไทยยังเป็นปัญหาเชิงระบบ ในส่วนของผู้ประกอบการเองยังต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและเชี่ยวชาญในปัญหาการศึกษาที่ต้องการแก้ไขอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งต้องมีความรู้เรื่องธุรกิจ, การบริหารจัดการ, มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี, รวมถึงยังต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี (connection) กับเครือข่ายต่าง ๆ อีกด้วย เรียกได้ว่าการจะเริ่มต้นทำธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษาหรือ EdTech ในไทยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

เปิดเกมรุก Edtech Accelerator โปรแกรมบ่มเพาะ EdTech แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากที่กล่าวมาข้างต้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ดิสรัปท์ได้ก่อตั้ง StormBreaker Accelerator ขึ้นมาเพื่อให้การสนับสนุน EdTech Startup ในด้านต่าง ๆ เช่น เงินลงทุนตั้งต้น, mentorship รวมถึงการเป็นเพื่อนร่วมทางเพื่อสนับสนุน EdTech ไทยในระยะเริ่มต้นให้เติบโตและอยู่ในเรดาห์ที่ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น เพื่อเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาไทย โดยปัจจุบัน StormBreaker ลงทุนใน EdTech ไปแล้ว 13 บริษัท และยังได้ร่วมลงทุน Social Impact Startup ด้านการศึกษากับ​ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อีก 5 บริษัท 

ตัวอย่างหนึ่งใน Portfolio การลงทุนของ StormBreaker Venture ที่จะแนะนำให้รู้จัก ได้แก่ Vonder ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2018 จากการทำ Chatbot เริ่มจากสมาชิกเพียง 3 คน กับ Vision ‘อยากให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก’ จนปัจจุบันมีสมาชิกทีมมากกว่า 30 คน และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเป็น Micro Learning & Gamification สำหรับ HR ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศไทย ช่วยให้การสื่อสารในองค์กรมีประสิทธิภาพ ทำให้การอัพสกิลคนในองค์กรเป็นเรื่องสนุก พร้อมรีพอร์ตรายงานผลสำหรับผู้บริหาร รวมถึงมีฝั่ง Vonder for School เกมเพื่อการเรียนรู้ในห้องเรียนยุคใหม่ โดยทางสตอร์มเบรกเกอร์ ได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ที่มากกว่าการให้เงินลงทุนตั้งต้น แต่ยังร่วมคิด Business Model, Go To Market Strategy, ช่วยหาลูกค้า/Strategic Partner รวมถึงช่วยวางแผนการระดมทุน ซึ่งปัจจุบัน Vonder อยู่ใน stage pre-series A ได้รับเงินลงทุนจาก SCB10X, 500 TukTuks และ Angel Investors ในเครือข่ายของสตอร์มเบรกเกอร์ นอกจากนี้ Vonder ยังได้สร้างความภูมิใจให้กับประเทศไทย โดยได้รับเลือกให้เป็น Top 50 EdTech แห่งภูมิภาค SEA อีกด้วย

นอกจากนี้ 2 ปีที่ผ่านมายังเป็นช่วงเวลาทองของ EdTech เนื่องจากผลกระทบจากโควิดได้ผลักดัน adoption ของ EdTech ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย สามารถดูได้จาก revenue ของ EdTech ไทยในพอร์ตฟอลิโอ StormBreaker ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด อย่าง OpenDurian แพลตฟอร์มติวเตอร์ออนไลน์ สำหรับน้อง ๆ ที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือเตรียมสอบวัดระดับ ปัจจุบันมี Users กว่า 6 ล้านคน มีติวเตอร์ระดับท็อปของประเทศที่สามารถสร้าง Engagement และมี Completion Rate สูงเกือบ 80% โดยในปี 2563 สามารถสร้างรายได้มากเฉียด 200 ล้านบาท

บทสรุปกุญแจสำคัญของ EdTech ไทย

จากที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนมองว่าสิ่งสำคัญสำหรับ EdTech ไทยหากสรุปให้สั้นมี 3 ข้อดังนี้ 

(1) Business Model Since Day 1

เพราะ Edtech ในไทยยังไม่มี Breakthrough Success เนื่องจากเพิ่งเกิดได้ไม่นาน การระดมทุนในรอบ Series B and beyond จึงยังท้าทายมาก ๆ ดังนั้นการมีแหล่งรายได้และ Business Model ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจึงสำคัญมาก 

(2) การ Pivot อย่างรวดเร็ว

โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากในการทดสอบไอเดีย หากทดสอบไปแล้ว Users ไม่ตอบรับอย่างที่คาด หรือไม่มีคนยอมจ่ายเงินให้กับแพลทฟอร์มอย่างที่คิด ก็ควร Pivot ให้ไว เช่น Vonder ที่ Pivot จาก B2C เป็น B2B

(3) การ Scale Up อย่างมีคุณภาพพร้อมแข่งขันกับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ

การสนับสนุนให้ธุรกิจการศึกษาที่อยู่รอดได้ให้เติบโตมากขึ้นและสามารถรักษาคุณภาพไว้ได้ เช่น OpenDurian ที่สเกลช่วงโควิดด้วยการเพิ่มกำลังคนและการลงทุนใน R&D เพื่อให้เกิด Engagement และ Completion Rate ที่สูง

โดยหลังจากนี้ผู้ประกอบการ EdTech ไทยจะไมีผู้สนับสนุนมากขึ้น เนื่องจากมีระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่ให้การสนับสนุน EdTech มากกว่าสมัยก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็น EdTech Accelerator อย่าง StormBreaker Venture เอง หรือการพาร์ทเนอร์กับบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง AIS ก็ได้ก่อตั้ง AIS Academy/LearnDi ที่พาร์ทเนอร์กับ EdTech อย่าง Conicle, True มีโครงการ True Digital Park ที่สนับสนุนพื้นที่และ Startup Community ให้กับคนรุ่นใหม่, KBTG มีการทำ Bootcamp และพาร์ทเนอร์กับ FOXFOX เพื่อให้ความรู้เรื่อง Data Science และ Machine Learning หรือภาครัฐอย่าง depa ก็ให้การสนับสนุน EdTech ด้วยการให้ทุนตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท รวมถึงนักลงทุนต่าง ๆ ที่ให้ความสนใจ EdTech มากขึ้น ล่าสุด Invent, Humanica, 500 TukTuks ก็ได้ร่วมลงทุนใน Conicle กว่า 90 ล้านบาทในรอบ SeriesA เพื่อเร่งการเติบโตและเป็นผู้นำด้าน Learning Platform และ HR Transformation Solution ให้กับลูกค้าองค์กร 

สุดท้ายนี้อยากฝากถึง EdTech ไทย เนื่องจากปัจจุบันเป็นขาขึ้นของ EdTech ทั่วโลก ทำให้ EdTech ต่างชาติและประเทศเพื่อนบ้านต่างก็จับจ้องตลาดไทย และอยากเข้ามาเจาะตลาดบ้านเรา ถึงเวลาแล้วที่ EdTech ไทยต้องเร่งพัฒนาสู้กับ EdTech ต่างชาติ และเตรียมพร้อมขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ทาง StormBreaker ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและผลักดัน EdTech ไทยสู่ระดับภูมิภาค

และหากคุณเป็นคนที่สนใจเทรนด์ innovation การศึกษาและการเรียนรู้ในอนาคต รวมถึงอยากรู้จักกับ EdTech และ Social Impact Startups ที่มุ่งพัฒนาการศึกษาไทย

ห้ามพลาด ! กับงาน StormBreaker x EEF Demo Day 2021 ในงานนี้นอกจากการฟัง pitching นำเสนอผลงานของทีมนวัตกร EdTech แล้วยังมี session พิเศษจากวิทยากรชั้นนำระดับประเทศอย่าง ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. ที่จะมาเล่าถึงสถานการณ์การศึกษาไทย ณ ปัจจุบัน และ คุณกระทิง พูนผล ที่จะมาบรรยายสดในหัวข้อ “Shifting to the Next Era of Education: ไขปริศนา อนาคตการศึกษาไทย หลังยุคโควิด”

StormBreaker x EEF Demo Day จะจัดขึ้นวันที่ 18 พ.ย. 2564 เวลา 17.00 - 19.00 น. ผ่าน Facebook และ Youtube Live

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ฟรี ได้ที่: https://tinyurl.com/StormBreakerDemoDay2021

พิเศษสุด สำหรับทุกท่านที่ลงทะเบียนสำเร็จ รับฟรี Voucher Future Skill มูลค่า 300 บาท และยังได้สิทธิลุ้นรับของที่ระลึกสุดพรีเมี่ยมในงานอีกมากมาย (ประกาศผลผู้โชคดีภายในงาน)


Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง