5 ตำแหน่งงานฟรีแลนซ์ยอดนิยม รู้ไว้ไม่ตกงาน!

February 17, 2022
Pat Thitipattakul

เราอยู่ในยุคที่มีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย...

ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ รูปแบบการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนมาก แพลตฟอร์มออนไลน์ได้เข้ามาเชื่อมต่อคนเข้ากับงานในรูปแบบ on-demand มีความยืดหยุ่นสูง ดังเช่น Grab ที่ทำให้ใครก็สามารถหารายได้เสริมได้ รับงานจากที่ไหนก็ได้ ทำมาก ยิ่งได้มาก

งานฟรีแลนซ์เองก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น นับเป็นทางเลือกใหม่ในยุคเศรษฐกิจผันผวน แพลตฟอร์มช่วยให้เราสามารถหางานฟรีแลนซ์ได้ง่ายขึ้น ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถนำความสามารถที่มีอยู่แล้วมาหารายได้เสริมได้ โดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานหลัก นักเรียน นักศึกษา ก็สามารถรับงานหารายได้ได้ นอกจากนี้ หากมีความสามารถในเรื่องภาษา ก็สามารถรับงานได้จากทั่วโลก

ในทางกลับกัน การจ้างงานเป็นครั้ง ๆ ก็ช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนและลดความเสี่ยงได้ งานไหนที่สามารถ outsource ได้ บริษัทก็เริ่มหันมาจ้างงานฟรีแลนซ์มากขึ้น จึงเกิดรูปแบบงานฟรีแลนซ์ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

5 กลุ่มงานฟรีแลนซ์ดาวรุ่งพุ่งแรงท่ามกลาง Covid-19

Fastwork แพลตฟอร์มจ้างงานฟรีแลนซ์อันดับ 1 ของไทย เปิดเผยงานยอดนิยม 5 หมวดหมู่ในช่วง Covid-19 นี่คือกลุ่มอาชีพที่เติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นที่ต้องการมากขึ้น ยอดการจ้างงานพุ่งสูงขึ้นมากถึง 20-96% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน สวนทางกับตลาดแรงงานที่เผชิญหน้ากับการลดคน ลดตำแหน่งงาน

มาดูกันว่า 5 กลุ่มงานนี้จะมีอะไรบ้าง!

1. Animation and Motion Graphic

งานออกแบบภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการ์ตูน ภาพถ่าย กราฟิก ไอคอนดุ๊กดิ๊ก ที่เรามักเห็นกันในโลกออนไลน์ นิยมนำไปใช้ประกอบคลิปประชาสัมพันธ์ คลิปสื่อสาร คลิปโฆษณาผลิตภัณฑ์ รวมถึงสื่อวิดิโอให้ความรู้ เพื่อทำให้ตัววิดิโอดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

2. Label and Packaging Design & Banner Design

งานยอดนิยมอันดับ 2 ยังคงหนีไม่พ้นงานออกแบบ แต่คราวนี้เป็นการออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์ และการออกแบบ banner ภาพประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ เห็นได้ชัดว่าในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา หลายคนพยายามหารายได้เสริมโดยการขายของออนไลน์ แน่นอนว่าการจะผลิตสินค้าอะไรสักอย่าง เราย่อมต้องการความช่วยเหลือจากดีไซน์เนอร์ในการออกแบบสิ่งเหล่านี้ เพื่อช่วยสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา

3. UI / UX Design

นี่คือตำแหน่งงานที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในฝั่งฟรีแลนซ์ แต่รวมถึงฝั่งพนักงานบริษัทด้วย งานออกแบบ UI (User Interface) คือการออกแบบหน้าตาเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชัน ทั้งในส่วนการจัดวางองค์ประกอบ ปุ่มกด สี ขนาดตัวอักษร ซึ่งสวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องเน้นให้ใช้งานง่าย เข้าใจง่ายด้วย ตามหลักการของ UX (User Experience) ซึ่งเป็นการออกแบบประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้ เช่น ถ้าผู้ใช้ต้องการสั่งสินค้า จะมีขั้นตอนอะไรบ้าง หน้าตาของเว็บจะสื่อสารอย่างไร แต่ละขั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องกดปุ่มหรือกรอกข้อมูลอะไรบ้าง ทำอย่างไรให้ใช้ง่ายและสะดวกสบายมากที่สุด

ยิ่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตเท่าไร ตำแหน่งงานนี้ถือเป็นตำแหน่งงานที่จะโตตามไปด้วย เป็นตำแหน่งที่สำคัญมากเพราะมีผลต่อผู้ใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันโดยตรง

4. LINE Sticker

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ LINE มากที่สุด ติดTop 5 ของโลก ผู้ใช้ทั่วประเทศมีทุกเพศ ทุกวัย นับได้ว่าเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารกันเลยทีเดียว สติกเกอร์ LINE จึงได้รับความนิยมอย่างมาก คนเริ่มอยากทำสติกเกอร์เป็นของตัวเองมากขึ้น เพื่อสื่อสารความเป็นตัวตน ออกแบบตามความชอบ นอกจากนี้ ในภาคธุรกิจเอง ก็มีการทำสติกเกอร์ LINE ตามแบรนด์ของบริษัทเพื่อสร้าง brand engagement กับลูกค้า ทำให้ทักษะการออกแบบสติกเกอร์ LINE เป็นทักษะที่หาเงินได้ดีในยุคนี้

นอกจากการรับจ้างออกแบบสติกเกอร์ LINE ให้คนอื่นแล้ว ยังสามารถออกแบบสติกเกอร์ของตัวเองไปวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มได้อีกด้วย มีรายได้ 2 ช่องทางจากทักษะเดียว! นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นน้อง ๆ นักเรียน เด็กรุ่นใหม่หลายคนที่ชื่นชอบการวาดรูปสามารถหารายได้ได้หลายหมื่นจากการขายสติกเกอร์

5. Content Writer

นี่คือยุคของ Social Media ผู้คนและแบรนด์พากันสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ การยิงโฆษณาออนไลน์ใช้เงินมากและแข่งขันสูง การสร้างสื่อ Content ให้คนชื่นชอบและมากด share กดติดตามเองได้ผลดีกว่ามาก เพราะทำให้เพจสามารถสร้างฐานผู้ติดตามที่มี high engagement เป็นกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องนั้นจริง ๆ และเป็นกลุ่มคนที่จะช่วยแชร์ ช่วยบอกต่อเกี่ยวกับเพจของเรา ช่วยให้เข้าถึงคนได้จำนวนมาก ต่างจากการโฆษณาที่ต้องใช้เงินมากหากต้องการเข้าถึงคนจำนวนมาก

ในยุคที่มี Content บน Social Media ให้เลือกดูเยอะไปหมด เป็นเรื่องยากมากที่จะดึงความสนใจคน Content จะต้องน่าสนใจจริง ๆ มีความแปลกใหม่ จึงจะไม่ถูกเลื่อนข้าม ดังนั้นคนที่มีทักษะการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ทักษะการเขียนบทความออนไลน์ จึงเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก

หากคุณสามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ นี่อาจเป็นทางเอาตัวรอดจากวิกฤต ช่วยให้คุณสามารถหารายได้เสริมได้ ทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก ยิ่งไปกว่านั้น เราอยู่ในยุคที่น่าตื่นเต้น เพราะทักษะทั้งหมดเหล่านี้สามารถหาเรียนได้ออนไลน์หลากหลายช่องทาง เราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่มาสร้างเป็นอาชีพได้ เข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก!

Digital Transformation ปัจจัยหลักเร่งโตกลุ่มงานเหล่านี้

จากการพูดคุยกับผู้บริหาร Fastwork เราพบว่าสาเหตุที่กลุ่มงานเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นเพราะพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า Fastwork ในช่วง Covid-19

ลูกค้า Fastwork มีทั้งบุคคลทั่วไป บริษัท SME / Startup และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เดิมทีลูกค้าทั่วไปไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากนัก แต่เมื่อเกิด Covid-19 ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว มีหลัก ๆ 3 รูปแบบ ดังนี้

1. ร้านค้าแบบ traditional จำเป็นต้องปิดหน้าร้าน ทางเดียวที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ในช่วงนั้นก็คือการใช้สื่อออนไลน์ จึงเริ่มหันมาทำเว็บไซต์ ทำเพจ ขายออนไลน์กันมากขึ้น เนื่องจากไม่เคยทำมาก่อนและทำไม่เป็น ไม่มีพนักงานที่มีความรู้เรื่องนี้ จึงมาจ้างฟรีแลนซ์ให้ช่วยทำสื่อ media

2. ธุรกิจเดิมไปต่อได้ยาก หรือ หยุดชะงัก จึงเปลี่ยนไปทำธุรกิจใหม่ เริ่มใหม่โดยใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

3. กลุ่มคนที่ต้องการหารายได้เสริม เพิ่งมาเริ่มขายออนไลน์ในช่วงนี้

เมื่อดูจากเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มใช้ดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว คาดว่าทักษะการผลิตสื่อออนไลน์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสารเล่าเรื่อง จะเป็นทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในตลาดไปอีกยาวนานในอนาคต

Gig Economy ทิศทางการทำงานแห่งอนาคต

งานวิจัยหลายแหล่งชี้เทรนด์ Gig Economy คือการทำงานแห่งอนาคต ลักษณะการทำงานแบบ Gig Economy คือการรับจ้างทำงานระยะสั้นเป็นอย่าง ๆ โดยใช้ทักษะเฉพาะ ผลการสำรวจพบว่า 62% ของผู้ว่าจ้างงานทั่วโลกมองว่าการจ้างงานในอนาคต จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบนี้มากขึ้น ซึ่งการจัดการจะเป็นไปได้ง่ายต่างจากสมัยก่อนด้วยความพร้อมของเทคโนโลยี

บริษัทหลายแห่งเองก็เริ่มผันมาจ้างงานแบบชั่วคราวมากขึ้น เพราะช่วยให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในองค์กรได้ดีขึ้น ไม่ต้องถูกผูกมัดด้วยสัญญาระยะยาวหรือสวัสดิการพนักงาน ลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในตลาด สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีทักษะหลากหลาย จ้างคนที่มีความสามารถเฉพาะทางได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน หรือประเทศเดียวกัน นายจ้างสามารถว่าจ้างคนที่เก่งที่สุดในเรื่องนั้นได้จากทั่วโลก

ในฝั่งแรงงานเอง การทำงานรูปแบบนี้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากกว่าแบบดั้งเดิมตรงที่มีความยึดหยุ่นสูง มีอิสระในการตัดสินใจเอง หากต้องการรายได้เพิ่มขึ้น ก็สามารถพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อมารับงานที่หลากหลายยิ่งขึ้นได้ ต่างจากการทำงานในองค์กรที่รายได้จะปรับตามเกณฑ์ของบริษัท ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่ากลุ่มงานอาชีพอิสระมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น 29.9% ต่อปีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลกชี้จำนวนที่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ หากเราต้องการสร้างความมั่นคงในชีวิต เราไม่สามารถยึดติดกับงานประจำเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไปเพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมากมาย สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องผันตัวมาเป็น Lifelong learner หมั่นเรียนรู้ พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ตลอดชีวิต เพื่อรับมือ Disruption ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://fastwork.co
https://getlinks.co/blog/gig-economy-the-workforce-of-the-future
https://www.bltbangkok.com/news/26892/

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง