สร้างนวัตกรรมใหม่ภายใน 5 วันด้วย Design Sprint

December 28, 2020
Disrupt Team

Design Sprint คือ กระบวนการแก้ปัญหาตามแนวทางของ Google Ventures ที่นำ Design Thinking มาประยุกต์ใช้ในเวลาเพียง 5 วัน โดยภายใน 5 วันนี้เราจะหาวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการตีโจทย์ สร้างชิ้นงานต้นแบบ และทดสอบชิ้นงานนั้นกับผู้ใช้โดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งเป็นปัญหาที่องค์มากมายเผชิญ วิธีการทำงานนี้จะจำกัดเวลาให้สั้น ปรับโฟกัสให้งานออกมาตรงจุดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ใน StormBreaker Batch 3 Bootcamp ครั้งที่ 6 สตาร์ทอัพและ SE ด้านการศึกษาทั้ง 7 ทีม ได้พบกับ คุณต้า ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล Co-Founder ของ Skooldio อดีต Data Scientist ของ Facebook และ Google Certified Sprint Master คนแรกของเมืองไทย ที่มาสรุปใจความสำคัญของ Design Sprint และรวดรัดกระบวนการทั้ง 5 วันมาให้ทั้ง 7 ทีมได้ทดลองในหนึ่งวัน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต


ต้นเหตุธุรกิจล้มเหลว ไอเดียไม่ตอบโจทย์ลูกค้าก็ไปต่อได้ยาก

ข้อผิดพลาดที่องค์กรมักเจอจากการทำ innovation คือ การไปลงทุนทำในสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ทำให้แม้ผลิตภัณฑ์จะโดดเด่นแค่ไหนก็ตามในเชิง technical ก็ไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ เพราะไม่มีคนซื้อ บริษัทลงทุนเงินจำนวนมาก เสียทั้งเงิน เสียเวลา เสียกำลังใจพนักงาน ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงออกนอกกรอบอีกต่อไป

ต้นเหตุของความผิดพลาดดังกล่าวไม่ใช่ว่าองค์กรทำ innovation ไม่ได้ แต่เป็นเพราะว่าตั้งต้นผิดจุด ไอเดียนั้นเป็นไอเดียที่ไม่ค่อยดีนักตั้งแต่แรกแล้ว แต่กว่าจะได้รู้กันว่าไอเดียไม่ดีก็เป็นตอนที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เสร็จสิ้นจนพร้อมใช้ ออกสู่ตลาด ซึ่งก็สายไปเสียแล้ว การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไม่ได้นำไปประยุกต์ใช้ในไอเดียใหม่ โปรเจ็คเป็นอันต้องล้มพับเก็บไป

แท้ที่จริงแล้ว การทำผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่เราจะต้องหาวิธีจำกัดความเสี่ยงนั้นให้อยู่ในระดับที่รับได้ ผ่านการทดลอง ทดสอบ และปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

Design Sprint จะช่วยตอบคำถามว่า ไอเดียผลิตภัณฑ์ของเราใช่สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการหรือไม่?

กรอบการทำงานของ Design Sprint เพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เริ่มจากการทำงานเป็นทีมเพื่อหาไอเดีย พัฒนาไอเดียให้เป็น prototype นำไปทดสอบกับผู้ใช้จริง เรียนรู้จากผลตอบรับที่ได้ นำมาปรับปรุงทำต่อเนื่อง จนสามารถพัฒนาต่อยอดออกสู่ตลาดได้

Design Sprint จะช่วยให้ทีมสามารถเริ่มต้นได้ถูกจุด เปลี่ยนความคิดไอเดียฟุ้งๆ ให้สามารถจับต้องได้ พิสูจน์ได้ จัดลำดับงานและโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญ ช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่ชัดเจนและมีเหตุผลรองรับ ส่งเสริมให้สามารถพัฒนาต่อเนื่องได้อย่างรวดเร็ว

Design Sprint ต่างจาก Design Thinking อย่างไร?

Design Sprint มีรากฐานที่มาจาก Design Thinking แต่แตกต่างกันตรงเรื่องของ “เวลาในการทำงาน” ซึ่ง Design Thinking ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา (Time Boxing) แต่ว่า Design Sprint เป็นกระบวนการที่เสร็จสิ้นภายใน 5 วัน ดังนั้น Design Sprint จึงมีความกระชับมากกว่า และรวดเร็วกว่า ซึ่งบางคนมองว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า เหมาะสำหรับการแก้ไขทีละ 1 ปัญหา โฟกัสไปทีละผลลัพธ์ ต่างจาก Design Thinking ที่ให้อิสระมากกว่าในการแก้ปัญหา เปิดกว้างกว่า ทั้งนี้จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของทีม

Design Sprint เหมาะกับผู้ที่มีไอเดียอยู่แล้ว และรู้ว่าจะต้องแก้ปัญหาอะไร และไม่เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะว่าเวลาที่จำกัดนั้นอาจส่งผลให้ไม่เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งและอาจแก้ไขปัญหาได้ผิดจุด

ถ้าจะทำ Design Sprint ให้ดี ควรผ่านการลองทำ Design Thinking มาก่อน เพื่อจะได้รู้จักการทำงานร่วมกัน เข้าใจเนื้อหา ไม่เสียเวลา และมีความชัดเจน


ก่อนที่จะเริ่ม Design Sprint ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

1. โจทย์ที่ใช่ - เลือกปัญหาที่เราต้องการจะแก้ โดยเป็นปัญหาที่ในองค์กรเห็นพ้องต้องกันว่าสำคัญ

2. ผู้ตัดสินใจที่เหมาะสม (Decider) - ควรให้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจมีส่วนร่วมด้วยในการดำเนินงาน

3. รวบรวมทีม (ไม่ควรเกิน 7 คน) - ลักษณะของคนที่ควรมาร่วมทีม เช่น

  • คนที่จะมีปัญหากับสิ่งที่เราทำ (Troublemaker) เพื่อให้เขามาเรียนรู้ เข้าใจ และเปิดโอกาสให้เขาได้ออกความคิดเห็น
  • คนที่จะต้องทำโปรเจคนี้ต่อไป
  • คนที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ นำเสนอไอเดียได้

4. กำหนดหัวข้อที่มีความเสี่ยงสูง ความรอบรู้น้อย ความต้องการจากผู้ใช้สูง ความซับซ้อนสูง และจำนวนผู้ได้รับผลกระทบสูง

5. ทีมงาน Sprint และผู้เชี่ยวชาญ

6. ห้อง และอุปกรณ์ (โพสต์อิต กระดาน กำแพงกว้าง)

Design Sprint Methodology

Methodology ของ Design Sprint

1. Map (Monday)

2. Sketch (Tuesday)

3. Decide (Wednesday)

4. Prototype (Thursday)

5. Test (Friday)

#วันแรก MAP

1. Start at the End

- ตั้งเป้าหมายระยะยาวสะท้อนถึงหลักการ และเป้าหมายของทีม เพื่อเตือนใจให้ทุกคนมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกัน

- หลังจากตั้งเป้าหมายระยะยาวแล้ว เราต้องตั้งคำถามในการทำ Sprint

  • มีคำถามเรื่องใดบ้างที่เราอยากรู้คำตอบ?
  • การจะทำตามเป้าหมายระยะยาวให้สำเร็จนั้น ต้องมีปัจจัยเรื่องใดบ้าง?
  • สมมติว่าเราเดินทางไปในอนาคต แล้วพบว่าโครงการล้มเหลว สาเหตุเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง?

2. Make a Map (Customer Journey Map)

- การวาดแผนเรื่องราวเพื่อให้เห็นว่าประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นอย่างไรตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้เรารู้ว่าปัญหาที่ต้องแก้อยู่จุดไหน และแก้ให้ตรงจุด

3. Ask the Experts

- ซักถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยการคุยทีละคน และจดโน้ตเวลาถาม

- การสัมภาษณ์ที่ดีควรให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์โดยลงรายละเอียด เล่าความรู้สึก เพื่อเข้าใจถึงแรงจูงใจ (Motivations) และ Pain Points ของเขา

4. Pick a Target

- หลังจากที่ได้เป้าหมายระยะยาว และเข้าใจเรื่องราวของผู้ใช้แล้ว เราต้องตัดสินใจเลือกจุดที่เราต้องการเข้าไปแก้ปัญหา​ โดยการเขียนปัญหาที่เราอยากแก้ออกมาเป็นคำถาม “How Might We..?” หรือว่า “เราจะ ... ได้อย่างไร?”

วิธีการเขียนคำถามในแบบ Design Sprint

- เขียนด้วยปากกา Marker เพื่อให้ได้ความชัดเจน

- เขียนให้สั้นและกระชับ

- เขียน 1 ไอเดียต่อ 1 โพสต์อิต

- หัวข้อต้องไม่แคบและไม่กว้างจนเกินไป

- การเขียนหัวข้อแคบจนเกินไป จะปิดช่องทางการคิดหาคำตอบ

- ทุกคนสามารถเขียนได้มากกว่า 1 ไอเดีย

- ถ้าไม่เขียนลงมา ก็ไม่สามารถถูกโหวตได้ พยายามส่งเสริมให้ทุกคนช่วยกันเขียนเยอะ ๆ

หลังจากที่ทำ MAP เสร็จ เราจะได้โจทย์ปัญหา  “HOW MIGHT WE” ที่ชัดเจน และพร้อมจะเข้าสู่วันต่อไป

#วันที่สอง SKETCH

ภายใต้การทำ Sketch เราจะทำงานในรูปแบบ Work Alone Together ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะต้องออกแบบชิ้นงานโดยลำพังภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนจะแชร์ไอเดียกับทีม ได้ใช้ความคิด เพราะไอเดียที่ดีไม่ได้มาตอนเราพูด แต่มาตอนเราเงียบ และที่สำคัญยังทำให้สมาชิกทุกคนมีโอกาสในการเสนอไอเดียได้อย่างทั่วถึง แก้ปัญหาหลักของการประชุม ที่ไอเดียของคนที่พูดเก่ง นำเสนอเก่ง มักได้รับความสนใจมากกว่า วิธีการนี้จะช่วยให้สมาชิกทีมทุกคนได้ออกไอเดียได้ เพิ่มประสิทธิภายในการทำงานมากขึ้น โดยอนุญาตให้กลุ่มคนที่พูดน้อย ขี้อาย ไม่กล้าพูด ได้แสดงออกทางความคิด

การ Brainstorm แบบออกเสียงนั้น นอกจากจะทำให้คนที่ขี้อายไม่กล้าพูดแล้ว ยังทำให้ไอเดียที่อาจจะดี ไม่ถูกเสนอให้คนอื่นรับรู้

THE FOUR-STEP SKETCH

1. Notes (~20 mins): รวบรวมข้อมูลที่สำคัญ

2. Ideas (~20 mins):เขียนวิธีแก้ไขปัญหาอย่างคร่าวๆ

3. Crazy 8s (8 mins): คิดแนวทางที่ต่างกันอย่างรวดเร็ว พับกระดาษให้มี 8 ช่อง และภายใน 8 นาที เขียนไอเดียออกมา 8 ไอเดีย อาจจะเป็นไอเดียที่ดีมาก หรือไม่ค่อยดี แต่เขียนออกมาทั้งหมด ให้ได้ 8 ไอเดีย ไม่มีถูกและไม่มีผิด

4. Solution Sketch (30+ minutes): ลงรายละเอียดต่างๆ เลือกไอเดียของเราที่ว่าดี แล้วลงรายละเอียดให้เหมือนจริงและเข้าใจได้มากที่สุด สามารถมีคำประกอบได้ แต่ผู้ชมต้องสามารถเข้าใจได้โดยที่คุณไม่ได้ยืนอธิบายอยู่ตรงนั้น

หลังจากที่ทำ Sketch เสร็จ ทุกคนในทีมควรจะมี Solution Sketch ของตัวเองที่พร้อมขึ้นโชว์ให้วันต่อไป

#วันที่สาม DECIDE

การตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสร้างเป็นชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) ผ่านกระบวนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ ให้สมาชิกทุกคนได้ประเมินผลงานทั้งหมดอย่างเงียบๆ (Silent Review) และพูดถึงสิ่งที่น่าสนใจในแต่ละผลงานอย่างเป็นระบบ (Structured Critique)

การทำ Silent Review อนุญาตให้ทุกคนได้ออกความเห็นกับสิ่งที่ตัวเองชอบโดยไม่ให้ความคิดเห็นผู้อื่นมีอิทธิผลต่อการตัดสินใจ และ Structured Critique อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในสิ่งที่น่าสนใจ และมองข้ามสิ่งที่ไม่น่าสนใจโดยไม่ซ้ำเติม ทำคนไม่ต้องกลัวที่จะถูกวิจารณ์

รูปแบบของการ Decide คือการใช้ Sticky Decision (ถูกเรียกอย่างนี้เพราะว่าทุกขั้นตอนมีการติดแปะ)

1. Art Museum: แปะไอเดียทุกคนให้แต่ละคนเดินได้สะดวก

2. Heat Map: ให้ทุกคนแปะสติกเกอร์ลงในส่วนที่ตัวเองสนใจ ไม่จำกัดจำนวน หากมีคำถามให้เขียนใส่โพสต์อิตแปะไว้

3. Speed Critique: พูดคุยและแลกเปลี่ยนสิ่งที่น่าสนใจในแต่ละไอเดีย เขียนสรุปใส่โพสต์อิตแปะไว้

4. Straw Poll: สมาชิกแต่ละคนเลือกหนึ่งไอเดีย โดยแปะสติกเกอร์ลงบนไอเดียนั้นเพื่อลงคะแนน

5. Super Vote: Decider แปะสติกเกอร์บนไอเดียที่ชอบที่สุด เพื่อเลือกมาทำเป็นชิ้นงานสุดท้าย แม้ว่าไอเดียอื่นอาจมีสติกเกอร์มากกว่า แต่ Decider มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด ดังนั้นสิ่งที่ Decider เลือกจึงเป็นเอกฉันท์ แต่ Decider มีสิทธิถามไถ่ความเห็นของทุกคนก่อนที่จะตัดสินใจ

Storyboard

หลังจากที่เลือกไอเดียที่จะทำต่อ และก่อนที่จะเริ่มทำ prototype เราต้องเข้าใจลูกค้า ดังนั้นการทำ Storyboard หรือกรอบแสดงเรื่องราวให้เห็นว่าชิ้นงานต้นแบบน่าจะทำงานอย่างไรในมุมมองของลูกค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราเข้าใจเหตุผลที่ลูกค้าเลือกใช้สินค้าของเรา และรู้ว่าชิ้นงานต้นแบบของเราต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

หลังจากที่ทำ Decide เสร็จ ทีมควรจะมีไอเดียที่ถูกเลือก และองค์ประกอบที่ชิ้นงานต้นแบบควรจะมี เพื่อเริ่ม Prototype ในวันต่อไป

#วันที่สี่ PROTOTYPE

ใช้หลักการ “Fake it” ที่เน้นสร้างเฉพาะฉากหน้า (Façade) ทำเหมือนว่า Prototype เป็นของที่ใช้งานได้จริง ช่วยเปลี่ยนไอเดียให้เป็นชิ้นงานต้นแบบที่จับต้องได้จริงภายในเวลาหนึ่งวัน

การสร้างชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) จะช่วยให้ทีมสามารถขัดเกลาและปรับแต่งไอเดีย สื่อสารกรอบความคิดหรือ concept วัดประเมินความเป็นไปได้ของไอเดียว่าควรทำต่อไหม และทำความเข้าใจความคิดเห็นของผู้ใช้เพื่อนำไปปรับปรุง

ก่อนที่จะเริ่มสร้างชิ้นงานต้นแบบ ทุกคนในทีมควรต้องมี The Prototype Mindset เพื่อให้เข้าใจถึงเป้าหมาย และไม่ก่อให้เกิดการเสียเวลาและทรัพยากรโดยใช่เหตุ

1. You can prototype anything: เชื่อมั่นว่ามีวิธีสร้างและทดสอบทุกอย่างได้

2. Prototypes are disposable: ชิ้นงานต้นแบบต้องใช้แล้วทิ้งได้ อย่าใช้เวลาทำมากเกินไป อย่าไปผูกมัด

3. Build just enough to learn, but not more: ไม่ต้องทำให้ชิ้นงานต้นแบบใช้งานได้ครบทั้งหมด ทำให้ใช้ได้ในส่วนที่เราอยากทดสอบ

4. The prototype must appear real: หน้าตาของชิ้นงานต้นแบบต้องเหมือนจริงมากที่สุด ปฏิกิริยาของผู้ใช้จะสมจริง และเราจะได้ Feedback ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง

หากทำแอพหรือเว็บไซต์ แนะนำให้ทำ Prototype ใน Presentation หรือ Keynotes เพราะว่าใช้เวลาทำไม่นาน และสามารถเชื่อมสไลด์ให้เหมือนจริงได้

หลังจากที่ทำ Prototype เสร็จ เราควรมี Product หรือสินค้าที่เหมือนจริงที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้ในวันต่อไป

#วันที่ห้า TEST

มาถึงส่วนที่น่าตื่นเต้นที่สุด นำชิ้นงานต้นแบบไปให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้จริง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นกลับมาปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยการสังเกตและเฝ้ามองการสัมภาษณ์ผู้ใช้ไปพร้อมกันทั้งทีม จดโน้ตใส่โพสต์อิตเพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

มีงานวิจัยระบุว่าการสัมภาษณ์ผู้ใช้เพียง 5 ราย สามารถเจอปัญหาได้ถึง 85% ข้อมูลนั้นเพียงพอที่จะนำไปแก้ไขจุดบกพร่องต่อให้สินค้าดีขึ้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเราต้องการจะแก้ปัญหาภายในระยะเวลาอันสั้น ให้ถามตัวเองว่าหากสัมภาษณ์คนมากกว่านี้ จะทำให้เราได้ข้อมูลเพียงพอพอกับเวลาที่เราเสียไปหรือไม่

การสัมภาษณ์ผู้ใช้ให้มีคนสัมภาษณ์เพียงคนเดียว ไม่ควรไปรุมผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความไม่สบายใจ ไม่ควรชี้นำเพราะอาจทำให้ผลลัพท์บิดเบือนจากความเป็นจริง โดยสามารถใช้ The 5-Act Interview เป็นแนวทางในการสัมภาษณ์

The 5-Act Interview

1. Friendly Welcome: ต้อนรับและขอบคุณผู้ใช้ อธิบายว่าเรากำลังทดสอบสินค้า

2. Context Question: สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ที่อาจเกี่ยวข้องกับสินค้า

3. Introduce Prototype: แนะนำสินค้า ขอให้ผู้ใช้ช่วยคิดออกเสียงว่ารู้สึกอย่างไร

4. Tasks: หากผู้ใช้ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ให้ตั้งคำถามเพื่อช่วยผู้ใช้ เช่น “คุณเห็นปุ่มนี้แล้วคิดว่ามันทำอะไร”

5. Quick Debrief: สอบถามความรู้สึกและข้อแนะนำโดยรวม

หลังจากเสร็จสิ้นวันที่ 5 เรามีข้อมูลมากพอที่จะตัดสินใจเดินต่อกับไอเดียของเรา หรือพับเก็บและเลือกเดินทางอื่น Design Sprint เป็นตัวเลือกที่ดีก่อนที่จะเลือกลงทุนกับไอเดียที่อาจไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

สิ่งที่ต้องจำขึ้นใจเมื่อทำ Design Sprint คือ ..

- อย่าด่วนวิ่งหาวิธีแก้ไข ใช้เวลาหาจุดที่ต้องเข้าไปแก้ไขให้เจอก่อน

- ระดมสมองผ่านการแยกกันทำงาน ทำให้ได้รายละเอียดมากขึ้น

- เลือกไอเดียโดยใช้การลงคะแนนเสียงแล้วให้ผู้ตัดสินใจเลือก

- สร้างตัวต้นแบบที่เหมือนจริงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

- อย่าคาดเดาผลลัพธ์เอง ให้ผู้ที่มาทดสอบเป็นผู้ให้คำตอบ

สุดท้ายนี้อยากให้มองว่าการทำ Design Sprint ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม คุณก็ยังคนเป็นผู้ชนะทุกครั้ง แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะล้มเหลว แต่คุณก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เป็นการล้มเหลวอย่างมีประสิทธิภาพในเวลาไม่กี่วัน หรือในทางกลับกันอาจเป็นความสำเร็จที่ยังมีข้อบกพร่องให้แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าทางไหน คุณก็เป็นผู้ชนะเสมอ

ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Venture และพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ EdTech startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง