Edtech ปฏิรูปความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ?? กรณีศึกษาจากประเทศอาร์มีเนีย ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากกว่าไทยถึง 10 เท่า

February 25, 2022
Pat Thitipattakul

ประเทศอาร์มีเนียเคยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย คือ นักเรียนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงจะสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากกว่าเด็กนักเรียนในต่างจังหวัด ทำให้ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

DASARAN Ed-Tech Company คือ สุดยอด EdTech ที่ได้ปฏิวัติการศึกษาประเทศอาร์มีเนียสู่ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน แม้ว่าจะมีฐานะยากจน หรือ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาศัยอยู่บนดอย ก็สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้มาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนชั้นนำของประเทศได้

แพลตฟอร์มของ DASARAN ได้ช่วยเด็กนักเรียน คุณครู และผู้ปกครองได้มากถึง 1 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวน ⅓ ของประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร? ลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ? บทความนี้จะมาเจาะลึกปัจจัยความสำเร็จของ DASARAN และประเด็นที่น่าสนใจที่สามารถนำมาถอดบทเรียนเพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยได้


ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงในแถบหุบเขาชนบท

ประเทศอาร์มีเนียตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างทวีปยุโรปและเอชีย อยู่ติดกับประเทศตุรกี จอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน และอิหร่าน มีประชากรเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น โดยที่ประชากรประมาณ 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในเมืองหลวง Yerevan เมืองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ

ในแง่ของการศึกษา ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงส่วนมากสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ดีได้ในโรงเรียนชั้นนำของประเทศ ในขณะที่ประชากรอีก 2 ล้านคนที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่บริเวณอื่นของประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกันได้เลย อีกทั้งด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศซึ่งมีที่ราบสูง ล้อมรอบด้วยภูเขา เดินทางลำบาก ประกอบกับทางบ้านมีฐานะยากจน ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องขาดเรียน รายงานของ UNESCO ระบุว่าเด็กนักเรียนชาวอาร์มีเนียที่ครอบครัวฐานะยากจนได้ออกจากระบบการศึกษามากถึง 35%

Suren Aloyan ประธานผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Dasaran

กำเนิด DASARAN แพลตฟอร์มเพื่อยกระดับการศึกษา

คุณ Suren Aloyan เป็นชาวอาร์มีเนียที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในระดับ PhD ที่สหรัฐอเมริกา และมีประสบการณ์ทำงานร่วมพัฒนานโยบายภาครัฐในกระทรวงกลาโหมกว่า 10 ปี เขามองว่าเด็กนักเรียนทุกคนเป็นอนาคตของประเทศ ตราบใดที่ระบบการศึกษายังไม่เปลี่ยน ประเทศจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ไข

ในปี 2009 เขาจึงได้สร้างแพลตฟอร์ม DASARAN ขึ้น ในภาษาอาร์มีเนียน คำว่า DASARAN แปลว่า “ห้องเรียน” ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจในการสร้างห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นแพลตฟอร์มที่รวมทั้งเด็กนักเรียน คุณครู ผู้ปกครอง หน่วยงานภาครัฐ ไว้ในที่เดียว เพราะการกระทำของทุกคนมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

หัวใจหลักของแพลตฟอร์ม คือ การสร้างเครื่องมือออนไลน์ในราคาที่เข้าถึงได้ ที่ช่วยเรื่องการเก็บข้อมูล การสื่อสาร และการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ รวบรวมเครื่องมือเหล่านี้มาไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกันเพื่อสร้าง ecosystem ที่สมบูรณ์ โดยเครื่องมือเหล่านี้อาจเป็นรูปแบบใดก็ได้ เช่น social network สำหรับโรงเรียน diary จดบันทึกการเรียน เกมส์เพื่อการศึกษาที่ทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุก แนวข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ระบบการจัดการโรงเรียน


เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาการศึกษาได้จริงหรือ?

แน่นอนว่าการเริ่มใช้เทคโนโลยีในโรงเรียนย่อมมีอุปสรรค โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนที่คุ้นชินกับการจัดการการศึกษาแบบดั้งเดิม การพยายามเข้าไปเปลี่ยนการทำงานแบบเดิม ๆ เป็นเรื่องท้าทายมาก มีปัญหาค่อนข้างคล้ายคลึงกับประเทศไทย

ในช่วงปีแรก ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น คุณ Suren และทีมงาน DASARAN ไปลงพื้นที่พูดคุยกับคุณครูในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ จัดการอบรมคุณครูเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอน มีการให้ข้อมูลช่วยเหลือสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาและความทุ่มเทอย่างมาก จนในที่สุด จำนวนคุณครูที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้นจากเพียงแค่ 5% ในปี 2010 กลายมาเป็น 81% ในปี 2016 และยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะคุณครูที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นแล้วก็จะไปสอนคุณครูคนอื่น ๆ ในชุมชนต่อ จะใช้บนคอมพิวเตอร์ หรือ smartphone ก็ได้ตามสะดวก ซึ่งโชคดีว่าปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้มีราคาถูกลงมาก และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตก็กระจายไปหลายพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วในช่วงปีหลัง ๆ มานี้


โจทย์สำคัญที่ DASARAN เน้นย้ำในการมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ มี 3 เรื่อง ได้แก่

  1. ใช้ data ในการหา insights พัฒนาโรงเรียน พัฒนาการเรียนรู้

แพลตฟอร์มเก็บข้อมูลผู้ใช้ ข้อมูลโรงเรียน ทำให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบโรงเรียนทั่วประเทศได้ เจาะลึกว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้โรงเรียนบางโรงเรียนประสบความสำเร็จ แล้วนำแนวทางนั้นมาแบ่งปันให้โรงเรียนอื่น ๆ ให้ลองนำไปใช้พัฒนาโรงเรียนของตนเอง นอกจากนั้นยังพยายามส่งเสริมให้รัฐบาลนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการวางแผนนโยบายการศึกษา

  1. กระจายสื่อการสอนที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันไปทั่วประเทศ

สร้างคลังความรู้ สื่อการสอน เครื่องมือต่าง ๆ ไอเดียการสอน เกมส์ จำแนกตามวิชา และมีการอัพเดทอย่างต่อเนื่องโดยอิง data จากข้อ 1) มาวิเคราะห์ว่าโรงเรียนแบบไหนเหมาะกับสื่อแบบไหน หรือขาดแคลนสื่อในวิชาไหน แทนที่จะเรียนจากตำราเพียงอย่างเดียว เด็ก ๆ จากทั่วประเทศสามารถมาเล่นเกมส์วิชาต่าง ๆ ทำคะแนนแข่งกันได้

  1. สร้างระบบจัดการโรงเรียนให้ทุกโรงเรียนดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่ก็เป็นอีกขั้นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เพราะว่ากระบวนการทำงานในโรงเรียนส่งผลต่อการจัดการการเรียนรู้มาก และถ้าการดำเนินงานไม่มีการวัดผลที่โปร่งใส จะไม่สามารถรู้ผลการดำเนินงานที่แท้จริงได้เลย และยังมีความเสี่ยงเรื่องการคอรัปชั่น

บนแพลตฟอร์มมีระบบจัดการข้อมูลเพื่อการบริหารงานโรงเรียน ครูใหญ่สามารถดูข้อมูลการดำเนินงานส่วนต่าง ๆ ได้แบบ real-time คุณครูใช้ระบบนี้ในการอัพเดทข้อมูลเกรดและการบ้าน พ่อแม่ก็สามารถดูข้อมูลการเรียนลูกได้ ทำให้ช่วยกันร่วมกับคุณครูแนะแนวได้ตรงจุด และพ่อแม่เกิดความภาคภูมิใจใน progress การเรียนของลูกในแต่ละวัน

หากพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าเทคโนโลยีไม่สามารถช่วยได้ เป็นเพราะแพลตฟอร์มส่วนมากคิดราคาใช้งานแพง ทำให้มีคนเพียงบางกลุ่มที่จ่ายไหวเข้าถึงได้ ในกรณีของ DASARAN มีความตั้งใจแต่เริ่มต้นว่าต้องเข้าถึงได้ทุกคน จึงพยายามขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาช่วยเหลือโรงเรียนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ มีการทำโปรเจ็คต่าง ๆ เพื่อระดมทุนจากมูลนิธิ ในปัจจุบันแพลตฟอร์มเปิดให้ใช้งานได้ฟรีสำหรับโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ และเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง คุณครูในเครือข่ายโรงเรียนั้น ๆ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและมูลนิธินานาชาติ สำหรับโรงเรียนเอกชน มีการเก็บค่าบริการรายเดือนตามจำนวนผู้ใช้

คุณ Suren กล่าวว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาก็ไปขอเงินสนับสนุนได้ เขาเล่าว่าทีม DASARAN ต้องใช้เวลาพิสูจน์ความมุ่งมั่นอยู่หลายปี อดทนต่ออุปสรรค และความล่าช้าในระบบการทำงานที่ซับซ้อนของภาครัฐ ผลักดันต่อไปจนในที่สุด สร้างฐานผู้ใช้กลุ่มแรกได้ เป็นการพิสูจน์ว่าแพลตฟอร์มนี้ใช้งานได้ดีจริง โรงเรียนหลายแห่งชอบ สร้างความน่าเชื่อถือว่าสามารถขยายผลต่อไปโรงเรียนอื่น ๆ ได้อีก จึงมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุน

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม DASARAN มีระบบครอบคลุมตั้งแต่ระบบจัดการโรงเรียน คลังความรู้ การวัดผลการเรียน เกมเพื่อการเรียนรู้ เชื่อมต่อเด็ก คุณครู โรงเรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานรัฐบาล เชื่อมต่อโรงเรียนรัฐบาลกว่า 1,501 แห่งทั่วประเทศเข้าด้วยกัน ข้อมูลการใช้งานแพลตฟอร์มทั่วประเทศได้แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียน 39.6% มีผลการเรียนที่ดีขึ้น เด็กนักเรียนที่ขาดเรียนลดลงมากถึง 83.78% คุณครูและผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ช่วยกันสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน สร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบ data-driven คุณครูช่วยกันพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์และใช้ข้อมูลการเรียนของเด็ก ๆ มาวางแผนการสอน รัฐบาลสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการวางนโยบายและมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาได้ตรงจุด เรียกได้ว่า DASARAN เชื่อมต่อทุกภาคส่วนใน ecosystem การเรียนรู้และมอบเครื่องมือและข้อมูลที่ช่วยให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ถอดบทเรียนจากความสำเร็จของ DASARAN

ปัจจัยที่ทำให้ DASARAN ประสบความสำเร็จอย่างมากในการปฏิรูปการศึกษาประเทศอาร์มีเนียก็คือ การทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งในมุมมองของแต่ละฝ่ายและสร้าง solution ที่ครอบคลุมการใช้งานทุกส่วน ไม่ย่อท่อต่ออุปสรรค จนในที่สุดได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ขยายผลไปได้ทั่วประเทศ

จากเรื่องราวดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีช่วยให้ DASARAN สามารถเติบโตได้เร็วจนเข้าถึงผู้ใช้ทั่วประเทศได้ก็จริง แต่ในตอนเริ่มต้น เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ไม่ใช่ว่าแค่สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาก็จะแก้ปัญหาการศึกษาได้เลย ต้องใช้เวลาและความทุ่มเทอย่างมากในการเข้าไปคลุกคลีกับสภาพแวดล้อมนั้นจริง ๆ และแก้ปัญหาที่เจอไปทีละจุด อย่างของ DASARAN เมื่อเอาไปให้โรงเรียนใช้ ปรากฎว่าคุณครูส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นกัน แทนที่ทีม DASARAN จะย่อท้อและล้มเลิก ทีมกลับมองว่าต้องหาวิธีช่วยให้คุณครูทุกคนใช้งานเป็น และสร้างฟีเจอร์ที่ช่วยให้คุณครูทำงานได้ง่ายขึ้น จึงเปิดอบรมสอนใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอน สอนอยู่หลายปีจนในที่สุดคุณครูจำนวนมากก็สามารถประยุกต์ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในห้องเรียนของตนเองได้สำเร็จ เกิดเป็นฐานผู้ใช้ที่ชื่นชอบ DASARAN

ก้าวต่อไปของประเทศไทยกับปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเป็นอย่างไร? เราจะสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยได้เช่นกันไหม? หรือควรจะเป็นรูปแบบอื่น? ปัจจุบันเด็กไทยมากกว่า 2,000,000 คน มีความเสี่ยงต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยสาเหตุเพราะ ‘ความยากจน’ เด็กจำนวนมาก ต้อง ‘ลาหยุดเรียน’ เพื่อรับจ้างทำงานหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัว

มาร่วมหาคำตอบการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาไทยได้ในงาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น พบกับ Content สุด exclusive จากนวัตกรระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งฟัง Pitch จาก EdTech Startups และ Social Entrepreneurs มากกว่า 10+ ทีม

ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ https://www.disruptignite.com/conference


ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.dasaran.am/

https://impacthub.net/this-armenian-ed-tech-company-is-changing-the-way-we-run-our-schools/

https://herostory.org/dasaran-education-technology-company/

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง