Digital Healthcare Ecosystem และ โอกาสของ HealthTech Startups

February 17, 2022
Disrupt Team

Reimagine Healthcare Ecosystem

แน่นอนว่าโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั่วทั้งโลก ทำให้ทุกคนตระหนัก และหันมาให้ความสนใจกับระบบสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น แพทย์ พยาบาล และนักวิจัย ต่างก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุก ๆ ประเทศ และสิ่งที่นอกเหนือไปกว่านั้น คือ เราได้เห็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ระบบสาธารณสุขหลังโควิค-19 จึงมีหน้าตาที่เปลี่ยนไปจากเดิม เกิด reimagine healthcare ecosystem โดย healthcare ecosystem ที่ว่านี้ จะได้รับการปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ สู่การเป็น digital และ customer-centric เช่นเดียวกับ ecosystem อื่น ๆ กล่าวคือ การรักษาที่มุ่งเน้นไปยัง patient-centric มากขึ้น หรือ การยึดคนไข้เป็นจุดศูนย์กลางมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

โดยการที่จะสามารถปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุข ให้มีคนไข้เป็นจุดศูนย์กลางมากขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากในการสร้าง healthcare ecosystem รูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูลหรือ database ของคนไข้ข้ามโรงพยาบาลไปให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประมวลผลการวินิจฉัย หรือ การวิจัยต่าง ๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

HealthTech กับ 5 โอกาสใหม่ในทศวรรษนี้

ดังนั้น healthcare ecosystem ในรูปแบบใหม่นี้ จึงเปิดโอกาสให้เทคโนโลยีเข้ามา digitize ระบบและการทำงานในระบบสาธาณสุขเป็นอย่างมาก สตาร์ทอัปด้าน HealthTech จึงกลายเป็นกลุ่มที่น่าสนใจในขณะนี้ ส่วนเทคโนโลยีเนื้อหอมและน่าจับตามอง แบ่งออกได้เป็น 5 หมวดใหญ่ ๆ ดังนี้

1. การวิจัยและการพัฒนายาและวัคซีน

เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น virtual patient (หรือ คนไข้สมมติ) เป็นการจำลองคนไข้ในคอมพิวเตอร์ หรือ 'in silo medicine' การจำลองอวัยวะ ซึ่งจะสามารถเร่งระยะเวลาในการวิจัยยาและวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น ทำให้นักวิจัยสามารถทดสอบประสิทธิภาพของยาและวัคซีนใหม่ ๆ ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการทดลองยาหรือวัคซีนได้สำเร็จแล้ว ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดจำนวนการใช้ยาของมนุษย์จริง ๆ ได้อีกด้วย

ลองจินตนาการดูว่า หากนักวิจัยสามารถหาวัคซีนสำหรับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ภายในไม่กี่เดือน หรือภายในไม่กี่วันได้สำเร็จ เทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานวิจัย และทำให้งานวิจัยนั้นประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาที่สั้นลง เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ 'การช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้มากขึ้น'

2. การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค

Wellness และ Healthcare ในสมัยนี้จะไม่ใช่การรักษาโรค หรือผู้ป่วย (curative care) เพียงอย่างเดียว แต่จะปรับมาส่งเสริมการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพให้ดี (preventative care) มากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ นั้น จะสามารถเข้ามาช่วยเสริมสร้าง personalization ของการดูแลสุขภาพในด้านนี้ได้ 

ตัวอย่างเช่น smart watch หรือ นาฬิกาอัจฉริยะ ที่ สามารถ track การออกกำลังกาย ระดับการเต้นของหัวใจต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แพทย์ หรือ AI วิเคราะห์และแนะนำปริมาณการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับทุกคนที่สวมใส่ 

นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัปที่โฟกัสด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น Care/of สตาร์ทอัปที่ใช้เทคโนโลยีและ AI ในการวิเคราะห์วิตามินที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้ โดยนำข้อมูลจากการกรอก survey และประมวลผล อัปเดตกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เพื่อจัดเป็นเซ็ตวิตามินที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้แต่ละคนมากยิ่งขึ้น ในเมืองไทยก็มี HealthTech อย่าง Vitaboost ที่ส่งพยาบาลไปเจาะเลือดถึงที่ เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินและแร่ธาตุในเลือดพร้อมให้คำแนะนำโปรแกรมดูแลสุขภาพและอาหารเสริมสำหรับแต่ละบุคคล

3. การคัดกรองและการวินิจฉัย

แน่นอนว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามานั้นทำให้คนสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น โดยโลกของ healthcare ในศตวรรษที่ 21 นี้ เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยทำให้เกิด at-home diagnosis หรือการวินิจฉัยได้เองจากที่บ้าน ลองจินตนาการว่า เมื่อคุณอยู่บ้านแล้วหกล้ม เกิดบาดแผล คุณสามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาและใช้ image-scanning และคุณจะได้รับคำวินิจฉัยเบื้องต้น และหลักการปฐมพยาบาลที่ควรปฏิบัติทันที

นอกจากนี้การนำข้อมูลจากกิจวัตรประจำวันที่ถูกบันทึกไว้ใน smart watch มาทำการวินิจฉัยเบื้องต้น หรือจะเป็นการโทรสอบถามแพทย์ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัปต่าง ๆ เช่น Ooca สตาร์ทอัปที่ให้บริการ telemedicine สำหรับพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการรักษาได้อย่างมาก

4. การเงินและการดำเนินงาน

เทรนด์เทคโนโลยีของ e-prescription ก็กำลังมาแรงเลยทีเดียวสำหรับการบริหารจัดการโรงพยาบาล ซึ่งช่วยลดความแออัดในการรอคิวจ่ายยา ทุกวันนี้หากท่านไปโรงพยาบาลอาจต้องเสียเวลานั่งรอนาน แต่สตาร์ทอัปเหล่านี้จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายยา ตัวอย่างสตาร์ทอัปในไทยที่ได้เริ่มทำ e-prescription แล้ว เช่น arincare สตาร์ทอัพที่ให้บริการระบบบริหารจัดการร้านขายยาดิจิทัลครบวงจร

นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากมาย การจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินผ่าน application หรือ mobile-banking จึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายให้คนไข้มากขึ้น

5. การรักษา

การรักษานั้นจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อ electronic medical records สามารถแชร์ผ่านระบบ database ข้ามโรงพยาบาลได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อคนไข้ไปเที่ยวแล้วเกิดอาการป่วยต้องรีบรักษาด่วน โรงพยาบาลที่จังหวัดนั้น ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องซักถามประวัติการรักษา การแพ้ยา เพิ่มเติมให้เสียเวลา แพทย์จึงสามารถรักษาคนไข้ได้อย่างทันท่วงที 

นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยให้ telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล สามารถเป็นไปได้ โดยแพทย์สามารถพูดคุย หรือแม้กระทั่งผ่าตัดคนไข้ได้จากระยะไกลโดยการควบคุมหุ่นยนต์ ซึ่งการมี telemedicine เข้ามานี้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษา ประหยัดเวลาการเดินทางและค่าใช้จ่ายของคนไข้ ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันคนไข้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดหลายคน ต้องเดินทางมาหลายชั่วโมงเพื่อพบแพทย์ในกรุงเทพฯ บางคนเข้ามาได้พบแพทย์แค่ 10 นาทีเพื่อรับยาและเดินทางอีกหลายชั่วโมงเพื่อกลับบ้าน จะดีแค่ไหนหากมีเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้คนไข้สามารถพูดคุยกับแพทย์ผ่านโทรศัพท์ได้ และยาต่าง ๆ สามารถส่งถึงบ้านได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาไกล ๆ

ตัวอย่างสตาร์ทอัปไทยที่ได้เริ่มเข้าตลาด healthtech แล้ว เช่น QueQ ที่ได้เข้าไปช่วยระบบบริหารจัดการคิวในโรงพยาบาล ซึ่งได้เริ่มต้นใช้งานจริงในโรงพยาบาลจังหวัดปราจีนบุรี และ MeDiSee ระบบจัดการคลินิกออนไลน์ เก็บข้อมูลการรักษาคนไข้ในระบบ และทำให้การนัดคนไข้มีความง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัปที่ช่วยส่งเสริมเรื่องการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เช่น Health at Home ช่วยหาผู้ดูแลหรือ care giver ให้กับผู้สูงอายุ โดยมีการเก็บ data และ track record อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบให้คำปรึกษาจากแพทย์และพยาบาลออนไลน์อีกด้วย

แต่! อุปสรรคในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม HealthTech ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่ และในประเทศไทยเราเองนั้น การแชร์ข้อมูลคนไข้ข้ามโรงพยาบาลด้วย database เดียวกัน ยังไม่มีมาตรการและกฎหมายที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ ดังนั้นจึงทำให้เทคโนโลยี หรือ digital data liquidity ยังตำ่อยู่ แต่ในอีกไม่ช้านี้ คาดการณ์ว่าจะเกิดความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนมากขึ้นในการ digitize healthcare system เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและรักษาชีวิตได้มากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าโลกของเราได้เปลี่ยนไปแล้วหลังจากโควิด-19 และ HealthTech สตาร์ทอัปจึงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง โดย Disrupt เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า HealthTech สตาร์ทอัพจะเป็นผู้เล่นที่สำคัญมากในการ revolutionize healthcare ecosystem ของโลกอนาคต

และสำหรับใครที่อยากเรียนรู้ skills ในการปรับเปลี่ยนตัวเองและองค์กร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโลกในทศวรรษที่ต้องสร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤตให้ได้  ห้ามพลาด! โปรแกรม CXO - Chief Exponential Officer หลักสูตรเพื่อการ Transform ผู้นำและองค์กรให้อยู่รอดในยุค Continuous Disruption โดย ‘คุณกระทิง พูนผล’ อ่านรายละเอียด คลิก https://www.disruptignite.com

#CXO #TheNextCXO


ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.mckinsey.com/industries/pharmaceuticals-and-medical-products/our-insights/moving-digital-health-forward-lessons-on-business-building
https://www.mckinsey.com/industries/pharmaceuticals-and-medical-products/our-insights/healthtech-in-the-fast-lane-what-is-fueling-investor-excitement
https://www.mckinsey.com/industries/healthcare-systems-and-services/our-insights/telehealth-a-quarter-trillion-dollar-post-covid-19-reality
https://www.scientificamerican.com/article/virtual-patients-could-revolutionize-medicine/


Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง