ส่องเทรนด์โลกในปี 2030 การเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนต้องรู้ เพื่อปรับตัวให้ทัน

March 5, 2024
Beau Kamolporn

2021 อุบัติการณ์ล้างไพ่จาก โควิด-19

เมื่อ Covid-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายท่ีไม่เหมือนเดิม ส่งผลกระทบต่อไปยังหลากหลายอุตสาหกรรม (Disruptive Dominos) บางธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด บางธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ทั้งธุรกิจด้านการศึกษา, ท่องเที่ยว, ธนาคาร, ร้านอาหาร, โรงแรม และอื่นๆ ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น เช่น ธุรกิจร้านอาหาร จะเห็นว่ามีการปิดตัวลงของร้านอาหารหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ หรือถ้าบริหารจัดการได้ดี ก็จะมีแผนตั้งรับกับวิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น ร้าน penguin eat shabu ที่ปรับตัวจากการขายเพียงแค่หม้อและชาบู เปลี่ยนเป็นการนำทุเรียนมาเพิ่ม เพื่อเรียกยอดขายในช่วงที่มีมาตรการภาครัฐห้ามนั่งทานในร้าน เป็นต้น

Source: https://brandinside.asia/from-penguin-eat-shabu-to-penguin-eat-durian-among-covid-19-outbreak-third-wave

"E-Commerce โตกระฉูด 58%"  

เช่นเดียวกัน ปี 2021 ก็เป็นปีที่มีธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย นั่นคือ ธุรกิจ E-Commerce ซึ่งเติบโตมากถึง 58% เนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตติดบ้านตั้งแต่ตื่นนอน ทานอาหาร ทำงาน จนเข้านอน เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับสื่อออนไลน์ ขณะที่ประเทศแถบเพื่อนบ้านใน South East Asia อย่าง ประเทศสิงคโปร์ ก็เติบโตเช่นกัน โดยรองลงมาอยู่ที่ 47% และ ประเทศอินโดนีเซีย 15% ซึ่งจากการวิจัยพบว่า สินค้าที่มักซื้อขายกันบนโลกออนไลน์ ได้แก่ ของใช้ภายในบ้าน, เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ สื่อ Entertainment ภายในบ้าน เช่น หนัง หรือ เพลง เป็นต้น

Source: South China Morning Post

Work-ไร้-Balance (Everything + Everywhere => Everyone)

ต่อมา ธุรกิจการศึกษาก็มีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน หลายโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เปลี่ยนการเรียนการสอนผ่านทางสื่อออนไลน์เป็นหลัก (Study from Home) ทำให้นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ต้องปรับตัวกันมากขึ้น อาจารย์ผู้สอนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน และนอกจากในรั้วโรงเรียนแล้ว ยังมีผลการสำรวจพบว่า พฤติกรรมการทำงานของพนักงานก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลายบริษัทมีมาตรการรองรับการทำงานจากบ้าน (work from home / work from anywhere) ในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

บริษัท Builk มีนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่ coworking space ที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัท

หรือแม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ที่อาศัยความรวดเร็วฉับไวของข้อมูล และความปลอดภัยที่ต้องสูงสุดเป็นหลัก อย่าง บริษัท กสิกรไทย บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (หรือ KBTG) ก็ได้ใช้นโยบาย 3-2 วัน กล่าวคือ ให้พนักงานเข้าออฟฟิศ 3 วัน และ 2 วันทำงานที่บ้าน เป็นต้น

จากที่กล่าวมานี้ อาจไม่ได้ราบรื่นไปทั้งหมด เพราะยังคงเหลือความท้าทายที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือ การบริหารความเครียดของพนักงาน ซึ่งอาจจะมาจากการประชุม online การบริหารเวลาในการทำงาน การพักผ่อนที่บ้าน (Work Life Balance) การรักษาระดับความสัมพันธ์ของพนักงานในองค์กรให้ยังคงแน่นแฟ้นอยู่เสมอ รวมถึงการมอบความเห็นอกเห็นใจแก่เพื่อนร่วมงาน (Empathy) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้

Source: https://www.microsoft.com/en-us/microsoft-365/blog/2020/07/08/future-work-good-challenging-unknown

2024-2025 โลกจะเกิดเทรนด์ใหม่ จากธุรกิจที่ปรับตัวใหม่

ธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็วจะสามารถสร้างผลกำไรและเติบโตได้ในช่วงอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยเริ่มจาก..

ตลาด VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality)

จะกลับมาสร้างกระแสและผลตอบรับที่ดีขึ้นกว่าเดิม เห็นได้จากข่าว Apple Glass ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเปิดขายออกสู่ตลาดในปี 2025 และมีรายได้เติบโต 59%* จากอัตราการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยเทคโนโลยี AR ทำให้เห็นภาพเสมือนจริงจากภายนอกได้ผ่านดวงตา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์มากหากนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ตัวอย่างเช่น Apple Glass คาดว่าจะนำไปใช้ในทางการแพทย์ เพื่อดูอวัยวะภายในร่างกายที่มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้, อุตสาหกรรมการผลิต เพื่อให้เห็นกระบวนการและขั้นตอนการผลิตเป็นภาพที่ชัดเจน ทำให้การผลิตและการสร้างสินค้าทำได้รวดเร็วและแม่นยำมากกว่าเดิม เป็นต้น นอกจากนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น Facebook และ Snapchat ก็เริ่มลงทุนกับการพัฒนาเทคโนโลยี AR ภายในองค์กรมากขึ้น อนาคตเราอาจจะต้องเริ่มปรับตัวกับการใส่ “แว่นตาที่เพิ่มวิสัยทัศน์การมองเห็นทัศนียภาพดิจิตัล” อีกด้วย

นอกจากนั้น ตลาด VR ธุรกิจเกมส์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นถึง 59% ภายในปี 2025 เนื่องจากการเติบโตของเทคโนโลยีและตลาดเกมส์ที่เติบโตสูงขึ้นถึง 16% สอดคล้องกับการเติบโตของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะได้เห็นการพัฒนาของวงการเกมส์ทั้งภาพที่ชัดเจนเหนือจินตนาการมนุษย์ และกราฟฟิคที่สวยชัดจริงยิ่งกว่าตาเห็นก็เป็นได้

นวัตกรรมด้านยนตรกรรม

จะเริ่มเห็นรถยนต์ไฟฟ้าแพร่หลายขึ้นภายในปี 2024-2025 แทนที่ด้วยรถยนต์ที่ใช้แก๊สและน้ำมัน นอกจากนี้จะหาซื้อได้ในราคาที่ถูกลง และลด Cost per mile บนท้องถนนได้อย่างชัดเจน อนาคตเราจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าถูกจับจองมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็จะลดการปล่อยก๊าซ carbondioxide (zero carbon waste) ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน ตัวอย่าง เช่น apple car ที่มีข่าวลือว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบ self-driving ในปี 2024-2025 ซึ่งแน่นอนว่าเราอาจจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับคนขับที่ไม่ใช่คนอีกต่อไป และการศึกษาคู่มือการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการดูแลรักษาและชาร์จเติมพลังงานไฟฟ้าให้กับรถยนต์ของเรา

ประเทศไทยในปี 2024-2025

การเข้าสู่ยุค Silver Economy อย่างเต็มตัว

ยุค Silver Economy หรือ ยุคที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเป็นประชากรหลักของประเทศ ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านนวัตกรรมให้สามารถตอบสนองความต้องการผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ Aging Society ปัจจุบันพบว่า กำลังซื้อและพฤติกรรมการบริโภคอุปโภค รวมถึงไลฟ์สไตล์ ความคิดอ่าน และการทำงานของผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะอ่านรีวิว หรือศึกษารายละเอียดถี่ถ้วนก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการที่ดีต่อเขาจริงๆ

ตัวอย่างนวัตกรรมที่เริ่มปรับตัวเข้ากับ Silver Economy เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ได้แก่ การมีบริการตรวจจับการลื่นล้มของผู้สูงอายุ กรณีที่อยู่ภายในบ้านเพียงลำพัง, smart censor ตรวจจับการเคลื่อนไหวและร่วงหล่นในห้องน้ำ หากผู้สูงอายุลื่นและล้มในห้องน้ำจะมีการแจ้งเตือนทันที เป็นต้น

โลกเศรษฐกิจไร้สัมผัส (Contactless Economy)

เกิดจากการใช้ข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อปรับปรุง customer experience ให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การซื้อสินค้าแบบ self-checkout ในหลายห้างสรรพสินค้าของไทย ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายสาขาของ tops เพื่อลดการสัมผัสกับผู้คน ลดต้นทุนการจ้างแรงงาน และเพิ่มความรวดเร็วในการซื้อของของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังลดอารมณ์ความหงุดหงิดในการรอคิวชำระสินค้าได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงโมเดลระดับโลกอย่าง scan and go ที่ Amazon-go ซึ่งกำลังทำอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งการใช้งานง่าย เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งสแกนบาร์โค้ดสินค้า และชำระค่าสินค้าได้ สร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น

Source: https://www.thairath.co.th/content/816121

ชำระเงินข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ (Cross-Border Digital Currency)

ปัจจุบัน มีข้อจำกัดและความยากลำบากในการชำระเงิน หรือส่งเงินข้ามพรมแดนระหว่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมของธุรกรรมที่สูงลิบ เมื่อมองย้อนลงมาดูสถิติยอดธุรกรรมในแถบ Asia Pacific พบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินที่สูงมาก จึงมี Solution เพื่อการชำระเงินแบบข้ามพรมแดนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยปรับปรุงการรับ/ส่งเงินระหว่างประเทศ​ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดให้สามารถโอนเงินข้ามประเทศผ่าน SCB Easy โดยร่วมมือกับ “Ripple” พันธมิตรระดับโลกใช้เทคโนโลยี blockchain ครอบคลุมความต้องการ 12 ประเทศหลัก จะเห็นว่านวัตกรรมนี้ช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สามารถโอนเงินไปยังต่างประเทศได้รวดเร็ว ไม่ต้องไปที่สาขา ทำธุรกรรมได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และที่สำคัญ เพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วของการรับเงินที่เกิดขึ้นได้ทันใจมากขึ้น ภายในไม่เกิน 3 วัน และไม่มีค่าธรรมเนียมธนาคารต่างประเทศอีกด้วย

Source: https://www.prachachat.net/finance/news-456219

2028-2030 โค้งสุดท้ายแห่งทศวรรษ โลกจะเห็นอะไรที่แตกต่างชัดเจนขึ้น?

การเคลื่อนย้าย การเดินทาง การขนส่งสินค้า และการชำระเงิน จะถูกทำให้ 'ง่ายขึ้น'

มีการคาดการณ์อนาคตไว้ว่า ผู้คนจะใช้ชีวิตออกห่างจากตัวเมืองมากขึ้น (Deurbanization) มองหาความสงบใกล้ชิดกับธรรมชาติ ธุรกิจขนส่งเริ่มปรับตัวมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและลดการใช้พลังงาน เช่น การลดการใช้เครื่องบินในการโดยสารและเปลี่ยนมาเป็นรถไฟแทน โดยใช้ Hyperloop หรือการใช้โดรนบินในการขนส่งสินค้า ซึ่งสะดวกกว่าในแง่การขนส่งระยะไกลไปยังผู้คนในตัวเมือง ที่รวดเร็ว ถูกลง และประหยัดพลังงานขึ้น

อุตสาหกรรมยานยนตร์หันไปใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก

เช่น โมเดลรถยนต์ Tesla ซึ่งหากมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต อาจจะมีการสร้างและรองรับ Customer Experience ที่ดีขึ้น เช่น มี Lounge สำหรับรอรถยนต์ส่วนตัวชาร์จพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ธุรกิจค้าปลีก กับ กลยุทธ์ Omni Channel

หมายถึง การเพิ่มช่องทางสื่อสารเข้าถึงผู้บริโภคทั้งทางหน้าร้าน (Physical store) และ ทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ (Online) ซึ่งอาศัยการเก็บข้อมูลลูกค้าที่ครอบคลุมเชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้การเข้าถึงลูกค้าเป็นไปได้อย่างง่ายและรวดเร็ว สร้างคุณภาพการบริการได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยการทำ demand forecasting เพื่อการสต็อคสินค้าและจัดจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคแม่นยำมากยิ่งขึ้น อนาคตหากเราสั่งสินค้า เราจะสามารถสั่งจากที่บ้านได้ ติดปัญหาก็แชทสอบถามพนักงานได้โดยตรง โดยมีระยะเวลารอสินค้าที่สั้นลง เนื่องจากการพยากรณ์การสั่งซื้อมีความแม่นยำมากขึ้น

การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น

ปี 2019 ในภูมิภาค South East Asia มีการลงทุนทางด้านการแพทย์ในอัตราที่เพิ่มสูงถึง $226 ล้าน เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาช่วยวิจัยและพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนต่าง ๆ ทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อปรับให้สอดคล้องกับความต้องการและพัฒนาการของมนุษย์ในขณะนั้น และรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนในแต่ละยุคสมัย เช่น การทำ Prototype วัคซีนของ Moderna ที่ใช้ AI คิดค้นพัฒนาและทดสอบโดยใช้เวลาเพียง 42 วันเท่านั้น! ก็สามารถนำออกมาพร้อมใช้กับผู้คนเพื่อป้องกันโรคระบาด Covid-19 ได้

เทรนด์ Defi ครองโลก ทุกคนต้องมี Wallet

จะเห็นว่าปัจจุบันมีเทรนด์ Defi (Decentralized Finance) ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการใช้ token หรือ การใช้เหรียญ (coin) ทั้งในด้านการลงทุน และอาจมีการซื้อขายกันเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงการเงินง่ายขึ้น โปร่งใส และมีต้นทุนต่ำลง เช่น ประเทศจีน เริ่มมีการใช้ Digital Yuan จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานแล้วในปีนี้ อนาคตอันใกล้เราทุกคนอาจจะต้องมี wallet สำหรับเก็บเหรียญหรือ token เพื่อใช้ในการซื้อสินค้าทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างเช่น บริษัท Ananda ที่ริเริ่มการใช้เหรียญ Crypto 3 สกุลหลักของโลก ได้แก่ Bitcoin (BTC) Ethereum (ETH) และ USDT ในการชำระแทนเงินสด เพื่อเป็นเจ้าของคอนโดใกล้รถไฟฟ้า รวมไปถึงบ้านทำเลดีจากอนันดา ผ่านทาง Wallet ของ “Bitkub“ เป็นต้น

Source: https://bitcoinaddict.org/2021/04/29/ananda-ipartner-with-bitkub-to-allow-you-to-use-crypto-to-buy-condos-and-houses/

ทุกการเปลี่ยนแปลง มักจะมีโอกาสดี ๆ แฝงอยู่เสมอ จงใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการปรับตัว และพร้อมรับกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง เพราะโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ จะมีคนในโลกอนาคต 2030 เตรียมจับจ้องรออยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความก้าวหน้าและสร้างผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นได้


สำหรับใครที่สนใจต้องการเรียนรู้ skills ในการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมรับมือกับเทรนด์โลกในทศวรรษใหม่นี้ ห้ามพลาด! โปรแกรม CXO - Chief Exponential Officer หลักสูตรเพื่อการ Transform ผู้นำและองค์กรให้อยู่รอดในยุค Continuous Disruption โดย คุณกระทิง พูนผล

#CXO #TheNextCXO #DisruptRules


ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3125272/e-commerce-starts-mature-asia-retailers-must-rise-new-challenges
https://www.globenewswire.com
https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/virtual-reality-vr-headset-market
https://techbullion.com/the-contactless-economy-mind-the-gap/


"คน" คือหัวใจ: 8 กลยุทธ์พัฒนา "คน" สู่ความสำเร็จในยุค AI Disruption
"คน" คือหัวใจ: 8 กลยุทธ์พัฒนา "คน" สู่ความสำเร็จในยุค AI Disruption
การขาดแคลนทั้งบุคลากรที่มีทักษะและศักยภาพ โดยเฉพาะด้านไอที ข้อมูล และวิศวกรรม เป็นปัญหาที่องค์กรต่างประสบอยู่ในปัจจุบัน การพัฒนาพนักงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กร ผู้นำทุกระดับต้องให้การสนับสนุนและสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในองค์กร โดยบทความได้นำเสนอ 8 กลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การปฐมนิเทศที่ดี การส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดหาประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย การโค้ช ความสนับสนุนจากผู้นำ การแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการพัฒนา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร
Mar 19, 2024

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง