สร้าง EdTech อย่างไร ให้ไปไกลระดับภูมิภาค คำแนะนำจากอดีตผู้บริหาร Khan Academy

December 21, 2020
Noon Ananya

Edtech เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรงในศตวรรตนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่จะทำให้บริษัท startup สามารถเติบโตในระดับภูมิภาค หรือระดับโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะ platform ที่เกี่ยวกับการศึกษา ที่มีข้อจำกัดเรื่องเนื้อหา และภาษาที่แตกต่างกันแต่ละประเทศ ซึ่งนี่ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ Edtech หลาย ๆ ที่ทั้วโลก ไม่สามารถเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้

นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ startup การศึกษามากมาย ตัดสินใจที่จะเติบโตอยู่ในประเทศ แต่ไม่ใช่สำหรับ คุณ Bilal Musharraf ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Edtech มากมายอย่าง Noon Academy, Khan Academy และ Edmodo โดยคุณ Bilal ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับพวกเราใน Education Disruption Conference 2 ไว้ในเดือนที่ผ่านมาไว้ว่า…

การที่ Edtech หรือ startup ใด ๆ จะเติบโตเป็นยูนิคอร์นที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่มาจากการวางแผน เพียงไม่กี่เดือน แต่ในฐานะของ founder จะต้องวางแผน และตั้งเป้าหมายการเป็น edtech ระดับโลกหรือภูมิภาคในตั้งแต่วันแรก และต้องทำให้สิ่งนี้เป็น core DNA ของบริษัท โดยคุณ Bilal ได้ให้คำแนะนำถึงเคล็บลับที่สรุปออกมาได้ 4 ข้อดังนี้

#1 The Network Effects

ในช่วงระยะแรกของการเป็น edtech คนส่วนมากมักคิดว่าเราจะต้องลงมือโฟกัสใน platform ที่ดี สวยงามและใช้งานได้ การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเพื่อหารายได้ หรือการทำการตลาดให้เป็นที่รู้จัก แต่ในความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ Edtech สามารถครองตลาดขนาดใหญ่ได้

หากเรามองในแง่ของลูกค้า หรือกลุ่มผู้เรียน สิ่งแรกที่เราคำนึงถึงในการเลือกเรียนหรือใช้บริการ platform อะไรสักอย่าง คือเนื้อหาที่ดี และตรงกับสิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่ความสวยงามหรือชื่อเสียง ดังนั้น นี่จึงเป็นคำตอบที่คุณ Bilal ได้ให้ไว้กับ Edtech ทุกตัว หากอยากจะประสบความสำเร็จ จะต้องลงทุนกับการสร้าง content และ หากลุ่มคนที่เป็น content creator กลุ่มแรกให้ได้ เมื่อมี content ที่ดี คนก็จะอยากเข้ามาเรียนมากขึ้น และบอกกันปากต่อปาก โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินลงทุนจำนวนมากไปกับการทำการตลาด และเมื่อจำนวนคนมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มคนที่เป็น content creator ก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นใน platform เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า network effect

จะสังเกตุได้ว่า การโฟกัสที่สิ่งนี้ คือการโฟกัสที่คุณภาพของ product ที่แท้จริง และก็เหมือนกับ startup ทั่ว ๆ ไป หากเรามีสินค้าและการบริการที่ดี เราจะได้ใจลูกค้าไม่ยาก และจะนำไปสู่การเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน

#2 Wisely Choose The Countries To Enter

ถ้าหากเราสามารถสร้าง network effects ที่แข็งแกร่งได้แล้ว เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศได้? นี่เป็นปัญหาสำหรับ edtech เกือบทุกตัวเมื่อดำเนินการไปแล้วในระดับหนึ่ง หลายคนอาจจะเริ่มสังเกตได้ว่า การที่ edtech จะประสบความสำเร็จนั้น จะต้องมาจาก content การเรียนรู้ที่ดี แต่การที่จะนำ content เหล่านั้นไปใช้ในต่างประเทศ อาจไม่สามารถทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งของประเทศนั้น ๆ ได้

ยกตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนในไทย จำเป็นจะต้องใช้ภาษาไทยเพื่อที่จะเข้าถึงนักเรียนได้ในวงกว้าง แต่หากเราต้องการขยายไปในประเทศเวียดนาม การเรียนการสอนภาษาไทยนั้นใช้ไม่ได้ หรือแม้แต่ประเทศที่มีภาษาเดียวกัน ก็อาจมีความแตกต่างกันเรื่องหลักสูตรกลางของนักเรียนแต่ละชั้นเรียน ซึ่งจะต้องมีการปรับกันอีกมาก

ดังนั้น คุณ Bilal จึงได้กล่าวไว้ว่า เราจะต้องเลือกประเทศที่ง่ายและใกล้เคียงกับเรามากที่สุดก่อน ยกตัวอย่างเช่น Noon Academy ที่เริ่มต้นจากซาอุดิอาราเบีย ได้เลือกอียิปต์ในการที่จะขยายธุรกิจต่อไป เนื่องจากมีภาษา และการเรียนรู้ที่ค่อนข้างคล้ายกัน

#3 Localization

เมื่อเราเข้าสู่ประเทศใหม่ได้แล้วนั้น ขั้นต่อไปก็คือการเติบโตในประเทศให้ได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีความท้าทายมากกว่าการที่เราจะเติบโตในประเทศของตัวเอง เนื่องจากเราจะต้องเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า และทำความเข้าใจใน context ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของผู้เล่นในตลาด คู่แข่ง ภูมิภาค กฏหมาย

ดังนั้น เราจะต้องทำการเรียนรู้และ localize ธุรกิจของเรา ไม่ใช่แค่ในส่วนของ content แต่ยังรวมไปถึง UX UI ต่าง ๆ เรา ยกตัวอย่างเช่น บางประเทศจะอ่านตัวหนังสือจากซ้ายไปขวา และบางประเทศจะอ่านจากขวาไปซ้าย ซึ่งเราจะต้องปรับให้ตรงตามที่ลูกค้าในประเทศนั้น ๆ ต้องการ

ซึ่งในบางที เราจะลองพิจารณาการทำ partnership ก็เป็นไปได้ โดยการทำ partnership นั้นก็มีข้อดีตรงที่เราจะสามารุบุกตลาดได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ก็อาจะมีข้อเสียในแง่ของความยุ่งยาก และผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน สำหรับธุรกิจอย่าง edtech คุณ Bilal ให้คำแนะนำไว้ว่า partner ที่น่าสนใจ จะอยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เนื่องจากไม่ได้มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันในแง่ของการศึกษา และยังสามารถช่วยเราได้ในเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคและระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ

#4 Cross-pollinate the module

สุดท้าย เราจะต้องพัฒนาทุกอย่าง อย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่สำคัญมากที่สุดนั้น คือ content ที่ดี และตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าที่นำไปสู่ network effects และการครองตลาดในประเทศนั้น ๆ ก่อนที่จะเริ่มต้นการบุกตลาดใหม่และปรับการ localization เพื่อครองตลาดต่อไป โดยเมื่อเรายิ่งมี resources ที่มากขึ้น และมี network ที่เข้าใจลูกค้ามากขึ้น การขยายอาณาเขตของเราก็จะยิ่งง่ายและรวดเร็ว จึงเป็นที่มาของคำว่า cross pollinate โครงสร้างต่าง ๆ และขยายผลผลิตอย่างรวดเร็ว

จะเห็นได้ว่า การที่จะกลายเป็น edtech ระดับโลก หรือภูมิภาคนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนลงแรงอย่างมาก คนที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมี passion ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แรงกล้าต่อเรื่องที่ตนเองทำอยู่ หากคำนึงถือแต่เรื่องรายได้และการเติบโต สักวันหนึ่งผู้ประกอบการก็จะรู้สึกอ่อนแรง และเหนื่อยกับต่อเลขที่ปรับตัวในสมุดบัญชีทุก ๆ เดือน สุดท้ายคุณ Bilal ได้ฝากบอกผู้ประกอบการทุกคนใน edtech ไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“...การที่คุณเลือกที่จะทำงานในวงการการศึกษานั้น คุณไม่เพียงแต่จะต้องสละเวลาในการทำงานให้กับมัน แต่จะต้องสละชีวิตส่วนตัวของคุณอีกด้วย การศึกษา เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องทำงานหนักอย่างมากเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ขอให้ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของเรา....”

Content นี้เป็นส่วนหนึ่งจากงาน Education Disruption Conference 2 - Reimagine Thailand's Education 2030

และเตรียมพบกับโปรแกรม CXO  - Chief Exponential Officer โดยคุณกระทิง พูนผล และ Disrupt หลักสูตรสร้างผู้นำแห่งอนาคต เร่งเครื่องธุรกิจเติบโตข้ามพรมแดน พร้อม Transform ผู้นำและองค์กรให้อยู่รอดในยุค Continuous Disruption อ่านรายละเอียด คลิก https://www.disruptignite.com

#CXO #TheNextCXO

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง