รีวิวการลงทุนสตาร์ทอัปในปี 2020

January 27, 2021
Twwo Jaruthassanakul

ต้องยอมรับว่าปี 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายของวงการสตาร์ทอัพไทย มีบททดสอบหลากหลายและอุปสรรคมากมายที่ยากลำบาก เข้ามา challenge ให้ผู้ประกอบการรวมไปถึงนักลงทุนได้หัวใจพองโตและเส้นเลือดสูบฉีดแรงขึ้น แน่นอนว่าสาเหตุหลัก ๆ มาจากแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่นำไปสู่การกักตัวแบบจริงจัง ตามมาด้วยมาตรการปิดประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและกระจายออกไปเป็นวงกว้าง ทำให้หลายกิจการต้องทะยอยปิดตัวลงแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

‘น้อย’ แต่ ‘มาก’

โควิดพ่นพิษ ทุบทุกสถิติ สูงสุด-ต่ำสุด ในรอบหลายปี

จากสถิติของทุกปีที่ผ่านมา มีจำนวนสตาร์ทอัปที่ประกาศได้รับเงินลงทุนอย่างเป็นทางการ ปีละไม่ต่ำกว่า 35 ราย จนกระทั่งในปี 2020 นี้ จำนวนสตาร์ทอัปที่ระดมทุนได้ กลับลดลงเกือบครึ่ง เหลือไม่ถึง 20 รายในประเทศไทย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่า 43% เทียบจากสถิติตัวเลขขั้นต่ำของทุกปีที่ผ่านมา แต่ภายใต้ตัวเลขที่ลดต่ำลงนี้ กลับมีสิ่งที่น่าสนใจแฝงอยู่ นั่นคือ จำนวนเม็ดเงินที่สตาร์ทอัปเหล่านี้ระดมทุนได้ ซึ่งหากเปรียบเทียบจากสถิติรายงานของ Techsauce ในปี 2018 เเละ 2019 มีสตาร์ทอัปไทยได้รับเงินลงทุน 35 ราย รวมเป็นเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 60 เเละ 97 ล้านเหรียญ ตามลำดับ เเต่ในปี 2020 ที่มีจำนวนดีลน้อยลง แต่เม็ดเงินลงทุนทั้งหมดกลับเพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น อยู่ที่ประมาณ 360 ล้านเหรียญ สร้างปรากฏการณ์ New High ขึ้นมามากกว่าเดิมถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2018 และ 3.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2019 เราจะมาวิเคราะห์ดูกันว่า สาเหตุเกิดจากอะไร

เกิดอะไรขึ้นในปี 2020

1. สตาร์ทอัปไทยเริ่มเข้าสู่ยุค Growth Stage

การที่สตาร์ทอัปไทยเริ่ม scale up จาก Seed stage ขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็สมเหตุสมผลเพียงพอ ที่จะทำให้การระดมทุนได้นั้น มีเม็ดเงินที่มากขึ้นกว่าเดิมใน Seed stage

ยกตัวอย่างดีลเเห่งปี ‘Flash Express’ ที่สามารถคว้าเงินระดมทุนไปได้มากกว่า 200 ล้านเหรียญ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสตาร์ทอัปไทยโดยทั่วไปมากหากเทียบกับสตาร์ทอัปในปีก่อน ๆ เนื่องจากส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วง Early stage ที่เพิ่งเริ่มต้นระดมทุนอยู่ในระดับเเสนเหรียญ ประกอบกับ Flash Express คือหนึ่งในสตาร์ทอัปที่ได้ผลประโยชน์จาก landscape ที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลพวงมาจากโควิด-19 ด้วยการเติบโตของตลาด e-Commerce, Work From Home และเทรนด์ต่าง ๆ ที่ทำให้การขนส่งพัสดุเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล 

นอกจาก Flash Express เเล้วก็ยังมี key player ที่สำคัญอีกเจ้า นั่นคือ Kerry ที่สามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์และเข้า IPO ไปได้ในช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา

2. FinTech ยังเซ็กซี่เสมอ

ตลอดปีที่ผ่านมานี้ สตาร์ทอัปฝั่ง FinTech ยังคงเติบโตและไปได้สวย สังเกตได้จากเงินลงทุนที่มีอยู่ส่วนใหญ่ มักจะพุ่งตรงไปอยู่ในฝั่ง FinTech ซึ่งจากจำนวนเม็ดเงินลงทุนที่รวมกัน 360 ล้านเหรียญ แต่สตาร์ทอัปฉายแววเด่นในไทย อย่าง Omise สามารถโกยส่วนแบ่งเงินลงทุนไปได้สูงถึง 80 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของเงินลงทุนจาก Startup ทั้งหมดตลอดปี 2020

หรืออีกตัวอย่าง Finnomena สตาร์ทอัป Fintech ให้บริการแพลตฟอร์มลงทุนและบริหารจัดการสินทรัพย์ ที่ได้รับเงินลงทุนจาก ​Regional VCs ชั้นนำ Openspace เเละ Gobi Venture ในรอบการระดมทุน Series B มูลค่ามากถึง 13.5 ล้านเหรียญ โดยตั้งเป้ายอดมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) 90,000 ล้านบาท ภายในปี 2023

นอกเหนือจาก 2 สตาร์ทอัปที่กล่าวมาแล้ว เเล้วยังมีบริษัทสตาร์ทอัปที่ส่อแววขึ้นแท่นดาวเด่น น่าจับตามองอย่าง ChomCHOB ก่อตั้งในปี 2015 โดยเป็นแอปพลิเคชันรวบรวมแต้มจากบัตรเครดิตและบัตรสะสมคะแนน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสะสม รวบรวม แล้วนำมาเปลี่ยนเป็น ‘ChomCHOB point’ เพื่อแลกของรางวัลต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการจาก partners ชั้นนำ รวมไปถึงหน่วยลงทุนอีกด้วย จากขนาดตลาดและความเป็นไปได้ในการต่อยอดอีกมาก ทำให้ ChomCHOB สามารถระดมทุนได้ถึง 50 ล้านบาทในรอบ Series A โดยมี Invent เป็น lead investor พร้อมด้วย 500 TukTuks, SIX networks และนักลงทุนรายอื่นร่วมลงทุนด้วย

3. อาหารและที่อยู่อาศัย สิ่งจำเป็นที่ยังไปได้สวย

นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัปไทยที่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัวในยุคโควิด ควบคู่ไปกับการระดมทุนเพื่อเร่งเครื่องการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น Freshket แพลตฟอร์มซื้อขายวัตถุดิบอาหารและสินค้าสดผ่านโลกออนไลน์ ที่ช่วยส่งตรงสินค้าสดใหม่จากสวนพืชผักผลไม้และฟาร์มต่าง ๆ ถึงมือผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้โดยตรง โดยสามารถระดมทุนได้ถึง 3 ล้านเหรียญ ในรอบ Series A จาก Openspace, ECG, Innospace, Pamitra Wineka และจาก Ivan Sustiawan (ผู้ร่วมก่อตั้ง TaniHub ซึ่งเป็น Agri-Tech Startup ในอินโดนีเซีย) ด้วยการระดมทุนในรอบนี้ ทำให้ Freshket สามารถพัฒนาสู่การเป็น enabler สำหรับ supply chain ในอุตสาหกรรมอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

FazWaz สตาร์ทอัปด้าน Prop-Tech ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อ digitize การซื้อขาย property โดยได้รับเงินลงทุนจาก Simon Baker นักลงทุน Prop-Tech ชื่อดังของโลก

4. Ecosystem Loop ความหวังที่ใกล้ความจริง

แม้ว่าเราจะเริ่มเห็น liquidity event หรือ การซื้อขาย/ควบรวม กิจการสตาร์ทอัปในไทยกันไปบ้างเเล้ว แต่เรายังไม่ค่อยได้เห็น Transaction เหล่านี้เกิดขึ้น เนื่องจากสตาร์ทอัปส่วนใหญ่ในไทยยังอยู่ใน early stage เกินไปที่จะมีการ M&A หรือ exit แต่ในปี 2020 เรากลับได้เห็นสตาร์ทอัปรุ่นเก๋าอย่าง Kaidee สร้างปรากฏการณ์ exit ให้กับกลุ่ม EMPG ได้สำเร็จ

ในอนาคตอันใกล้นี้ นักลงทุนต่างคาดเดากันว่า ปรากฏการณ์ exits จะเกิดบ่อยเเละถี่มากขึ้นกับตลาดไทย นอกจากนี้ยังมีโอกาสลุ้น IPO สตาร์ทอัปไทยตัวแรกอีกด้วย

เมื่อมี transaction เหล่านี้เกิดมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยยกระดับและเริ่มต้นการสร้าง Ecosystem สตาร์ทอัปเมืองไทยขึ้นไปได้อีกขั้น จากการที่นักลงทุนต่างชาติได้เห็น exit opportunities และการ recycle talent เเละ เงินทุน หรือ capital ที่ได้มาจาก exit นั่นเอง

แม้ว่าปี 2020 จะเป็นปีที่ challenging เเต่เราก็ยังได้เห็นข่าวดี และความคืบหน้าของวงการสตาร์ทอัปไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนชั้นนำระดับภูมิภาคให้เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัปไทยได้ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อ ecosystem ในบ้านเรา จึงทำให้ปี 2021 นี้กลายเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าจับตามอง เพราะยังคงมีสตาร์ทอัปอีกหลายเจ้าที่กำลังรอการระดมทุนรอบใหญ่ หรือดีล M&A เเละ IPO ที่เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นในปี 2021


ส่วนใครที่สนใจอยากเรียนรู้ skills ในการปรับเปลี่ยนตัวเองและองค์กร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโลกในทศวรรษใหม่นี้ ห้ามพลาด! โปรแกรม CXO - Chief Exponential Officer หลักสูตรเพื่อการ Transform ผู้นำและองค์กรให้อยู่รอดในยุค Continuous Disruption โดย ‘คุณกระทิง พูนผล’ และ ‘Disrupt’ อ่านรายละเอียด คลิก https://www.disruptignite.com

#CXO #TheNextCXO


"คน" คือหัวใจ: 8 กลยุทธ์พัฒนา "คน" สู่ความสำเร็จในยุค AI Disruption
"คน" คือหัวใจ: 8 กลยุทธ์พัฒนา "คน" สู่ความสำเร็จในยุค AI Disruption
การขาดแคลนทั้งบุคลากรที่มีทักษะและศักยภาพ โดยเฉพาะด้านไอที ข้อมูล และวิศวกรรม เป็นปัญหาที่องค์กรต่างประสบอยู่ในปัจจุบัน การพัฒนาพนักงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กร ผู้นำทุกระดับต้องให้การสนับสนุนและสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในองค์กร โดยบทความได้นำเสนอ 8 กลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การปฐมนิเทศที่ดี การส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดหาประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย การโค้ช ความสนับสนุนจากผู้นำ การแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการพัฒนา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร
Mar 19, 2024

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง