ถอดรหัสมันสมองหมื่นล้าน นักลงทุนที่สำเร็จต้องคิดแบบ…

February 23, 2024
Mild Panassaya

ถอดรหัสมันสมองหมื่นล้าน นักลงทุนที่สำเร็จต้องคิดแบบ…

แม้เราจะรู้ดีว่าคนเราเกิดมาบนพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียม แต่ในทุก ๆ ยุคสมัยจะมีคนบางกลุ่มที่ประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าคนอื่นเสมอ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นผ่านนักลงทุนที่เก่ง ๆ ซึ่งสร้างกลยุทธ์และแนวทางการลงทุน ซึ่งนักลงทุนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้คัมภีร์เหล่านี้ และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างแนวทางของตัวเองได้

แล้วคนเหล่านั้น มีแนวคิดยังไง มาดูกัน!

1.ลงทุนในสิ่งที่ถนัด :

Charlie Munger มีความเชื่อเช่นเดียวกันกับ Warren Buffett ที่เชื่อในทฤษฎีการลงทุนแบบ Circle of Competence หรือ “วงกลมแห่งความถนัด” ที่บอกขอบเขตความรู้ของเราว่ารู้อะไร และไม่รู้อะไร ชาร์ลี มังเกอร์ เชื่อว่านักลงทุนที่ฉลาดควรมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีความเชี่ยวชาญเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด

"เราไม่ได้ฉลาดนัก แต่เรารู้ว่าขอบเขตความฉลาดของเราอยู่ตรงไหน นั่นเป็นส่วนที่สําคัญมากของความฉลาดที่เอามาใช้ได้จริง" 

2. เลือกธุรกิจที่แตกต่าง

ควรเริ่มจากเข้าใจเรื่อง Life Cycle ของทุกธุรกิจ คือ

  • Stage 1: ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ (Startup)
  • Stage 2: เริ่มโต แต่ Cashflow ติดลบ
  • Stage 3: เริ่มโตขึ้น และ Cashflow เริ่มเป็นบวก
  • Stage 4: ช่วงธุรกิจขยายตัว (Scale up)
  • Stage 5: ธุรกิจเริ่มอิ่มตัว

สำหรับนักลงทุน VC (Venture Capital) จะเลือกลงทุนที่ Stage 1-2 โดยดูที่ขนาด ส่วนแบ่งตลาด กำไร ผลตอบแทนบริษัท ทีมผู้ก่อตั้ง เทคโนโลยีหรือข้อได้เปรียบทางธุรกิจ (Unfair Advantage) ที่คู่แข่งไม่มี ความสามารถในการบริหาร การดึงดูด Talent และการ Exit

ส่วนนักลงทุน VI (Value Investor) ควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความผูกขาด (Monopoly) สามารถขยายธุรกิจ และกลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาด มียอดขายมากกว่าคู่แข่ง 4-5 เท่า และควรเข้าลงทุนช่วง Stage 3 หรือช่วงที่ยอดขายมากกว่าคู่แข่งในตลาด 2 เท่า เพื่อเพิ่มผลตอบแทน แต่ส่วนมากนักลงทุนมักได้ผลตอบแทนน้อย เนื่องจากเข้าลงทุนช้า ทั้งที่จริง ๆ แล้วช่วงที่ธุรกิจอิ่มตัว ควรมองหาธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโตแทนที่ (ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นแล้วถือตลอดชีวิต)

ในทางกลับกัน บางอุตสาหกรรม อย่างเช่น ธุรกิจการบิน หรืออสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถเป็นธุรกิจผูกขาดได้ ดังนั้นจึงควรลงทุนระยะสั้นแทน

3. ลงทุนด้วยวิสัยทัศน์แบบ Warren Buffett

Warren Buffett มีรูปแบบการลงทุนที่มีวินัย ใจเย็น และเน้นคุณค่าอย่างสม่ำเสมอ เขาเลือกหุ้นต่าง ๆ ผ่านการมองภาพรวมของบริษัท ลงทุนระยะยาวเสมือนเป็นเจ้าของร่วม รูปแบบการลงทุนแบบนี้สามารถเอาชนะตลาดเงินได้หลายทศวรรษ

การลงทุนระยะยาวต้องเริ่มจากการวิเคราะห์พื้นฐาน เข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรม มองความเสี่ยงให้ขาด เมื่อหุ้นตกก็สามารถตีมูลค่าที่แท้จริงได้ เพราะวิกฤตินั้นอาจกลายเป็นโอกาสได้ในที่สุด อีกทั้งวัดผลดำเนินงานด้วยการทำ Financial model คาดการณ์ผลตอบแทน เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงกลยุทธ์การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลงทุนระยะยาวประสบความสำเร็จ คือ ความสามารถของผู้บริหารในการวางแผนทั้งด้านการบริหารธุรกิจ การจัดการเงินทุน การหาโอกาส ความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ผู้บริหารบางท่านเก่งในด้านการคว้าโอกาสในเทรนด์ใหม่ ๆ แต่ธุรกิจแบบนั้นมักไม่ยั่งยืน การลงทุนจึงมีความเสี่ยงมากกว่า

เทคนิคสำคัญคือ การเฉลี่ยเงินลงทุนและเรียนรู้บริษัทขั้นต่ำประมาณ 3 ปีโดยคำนึงถึงการเมืองเนื่องจากมีผลต่อธุรกิจสัมปทาน หากมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง หรือ ไม่ได้ต่อสัมปทาน จะถือเป็นความเสี่ยง หลังจากเข้าใจความเสี่ยงของธุรกิจครบทุกแง่มุม จึงค่อยลงทุนเพิ่มภายหลัง

4. เข้าใจและตีความเทรนด์เศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ

George Soros นักลงทุนระยะสั้น ที่ศึกษาเป้าหมายจริงจังเพื่อคาดการณ์ว่าทิศทางของราคาจะไปทางไหน และพร้อมเสี่ยงเสมอไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทใดก็ตาม

5. ให้ความสำคัญกับความเสี่ยง มากกว่าผลตอบแทน

นักลงทุนส่วนมากเชื่อในจริยธรรมขององค์กรและผู้บริหารที่ดี ตรงไปตรงมา ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด

ในมุมของนักลงทุน ควรกล้าในเวลาที่คนอื่นกลัว ในช่วงที่ตลาดต้องการ นักลงทุนไม่ควรซื้อ แต่ถ้าตลาดไม่ต้องการ เราควรรีบเข้าไปวิเคราะห์ว่าเป็นวิกฤติชั่วคราวหรือถาวร หากเป็นวิกฤติชั่วคราว เรามีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนกลับมาสูง

การจัดการอารมณ์ของนักลงทุนเวลาขาดทุน คือการมองสิ่งที่มี มากกว่าสิ่งที่เสีย อย่ายึดติดกับความผิดพลาด แต่ให้เรียนรู้จากมัน และหาโอกาสลงทุนต่อไป

6. ต่อสู้กับความโลภ และเอาชนะความกลัว

ต้องจัดการกับความโลภและความกลัว ด้วยการทำความเข้าใจตลาดว่า การเปลี่ยนแปลงอิงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เมื่อเราเข้าใจความเคลื่อนไหว กลไกธรรมชาติ จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์เทรนด์ของตลาดได้

 

7.  ซื่อสัตย์ต่อตัวเองจนรู้จุดอ่อน จุดแข็ง

“ความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง” หมายถึง นักลงทุนต้องมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการวางแผนลงทุนอย่างเป็นขั้นตอน จากนั้นก็ต้องดำเนินการตามแผนที่สร้างไว้ โดยไม่ออกนอกลู่นอกทางไปจากแผน ไม่ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ และความกลัว เข้าครอบงำเมื่ออยู่ในสนามการลงทุน รวมไปถึงไม่ยอมให้คนอื่นมาเปลี่ยนความคิดให้แตกต่างไปจากแผนที่วางเอาไว้

ความซื่อสัตย์ต่อตัวเองจะช่วยให้นักลงทุนสามารถมองเห็นถึงจุดอ่อนและจุดแข็งในการลงทุนได้ และนำมาปรับแก้ไขให้แผนการลงทุนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเล่นนอกแผน จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า แผนที่วางไว้มีจุดอ่อนอยู่ที่จุดใด และจุดไหนคือจุดแข็งที่ควรรักษาไว้

 

8. มีวินัยต่อตัวเอง

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีวินัย เช่น หมั่นติดตามข่าวสาร ฝึกการวางแผน ศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ ที่เหมาะกับตัวเอง และหมั่นบริหารจัดการเงินให้เป็นสัดส่วน เป็นต้น

9. ลงทุนกับ “คอนเน็กชัน” ก็สำคัญ!

นอกเหนือจากการลงทุนกับการเรียนรู้ใหม่ ๆ การสร้างคอนเนคชั่น รู้จักกับคนในแวดวงธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่ทำ ทั้งฝั่งลูกค้า ซัพพลายเออร์ หรือกระทั่งนักลงทุนที่มีเงินทุนพร้อมสนับสนุนไอเดีย ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเรา โดยเว็บไซต์ Score.org ระบุว่า “ธุรกิจขนาดเล็กที่มีการลงทุน มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากกว่า” นอกจากนี้ University of the People ยังระบุอีกว่า “ผู้ที่ได้รับการศึกษา จะมีรายได้สูงกว่า มีโอกาสในชีวิตมากกว่า และมีแนวโน้มสุขภาพดีกว่า” ซึ่งก็ฟังดูไม่เกินจริงนัก เพราะการศึกษาเป็นประตูสำคัญที่จะพาเราออกไปสู่โลกที่กว้างขวางมากขึ้น ทั้งในแง่ความรู้และคอนเนคชั่น ซึ่งหากมองในอีกด้าน การได้รับการศึกษาที่ดี ส่วนมากก็มักจะต้องใช้เงิน และโอกาสในชีวิตด้วยเหมือนกัน อาจเรียกได้ว่าการศึกษา และโอกาสมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (Correlation) ดังนั้นสำหรับคนที่มีโอกาส และต้องการประสบความสำเร็จด้านธุรกิจควรลองพิจารณาใบการลงทุนกับตัวเองเพิ่มเติม

บทความบนเว็บไซต์ Entrepreneur Asia Pacific ยังกล่าวไว้อีกว่า

“ถ้าตัวคุณเองยังไม่เริ่มลงทุนกับตัวเองก่อน แล้วใครจะอยากมาลงทุนสนับสนุนธุรกิจของคุณ ดังนั้นจงเป็นนักลงทุนคนแรกที่เห็นคุณค่าและศักยภาพที่พร้อมต่อยอดของตัวเอง”

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง