สร้าง Startup หน้าใหม่ Food and Dining Tech (ตอนที่ 1)

December 20, 2018
Yui Jantanarak

Minor Tasting The Future – Hackathon 2018

ปิดฉากอย่างสวยงามจนได้ผู้ชนะเลิศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการแข่งขัน “Minor Tasting The Future - Hackathon 2018” งานเฟ้นหานักพัฒนานวัตกรรมด้าน Food และ Dining Tech ซึ่งมีผู้สนใจสมัครกว่า 99 ทีม โดยมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขัน 23 ทีม ผลสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้นอกจากจะทำให้เมืองไทยมีสตาร์ทอัพในกลุ่มใหม่เกิดขึ้นอย่าง Food and Dining Tech แล้ว ยังถือเป็นการเตรียมตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีกอาหารยุค Digital Disruption ได้เป็นอย่างดี


โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขันในรอบสุดท้ายหลาย ๆ ทีม ได้รับการทาบทามในการเข้าร่วมลงทุน รวมไปถึงการต่อยอดจากเหล่าบรรดาผู้สนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ทั้งไมเนอร์กรุ๊ป ได้เล็งเห็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะพัฒนาธุรกิจร่วมกันในอนาคตประมาณ 5 ราย นอกเหนือไปจากทีมผู้ชนะ เช่นเดียวกับ 500 TukTuks ที่ได้ติดต่อทีมผู้เข้ารอบที่มีศักยภาพไว้ประมาณ 4 - 5 รายแล้วเช่นเดียวกัน

มองในมุมของนักลงทุนอย่าง คุณกระทิง พูนผล Managing Partner ของ 500 TukTuks และ ผู้ก่อตั้ง ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ มองว่าการจัด “Minor Tasting The Future – Hackathon 2018” ครั้งนี้เป็นการเฟ้นหาสตาร์ทอัพในกลุ่ม Food and Dining Tech ครั้งแรกของเมืองไทย ซึ่งแตกต่างจากหลายครั้งก่อนหน้านี้ ที่น้ำหนักจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มฟินเทคและอีคอมเมิร์ซเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ในความจริงแล้ว ธุรกิจอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีโอกาสมาก เพราะเมืองไทยกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นครัวของโลก และสตาร์ทอัพเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ

คุณกระทิง พูนผล, Managing Partner of 500 TukTuks and Founder of Disrupt Technology Venture

"ผู้เข้าแข่งขันในครั้งนี้กว่า 70% เป็นผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของงานมีแนวทางและความคิดแบบใหม่ ที่พร้อมนำเสนอธุรกิจที่จะสามารถรับมือกับผู้บริโภคยุคใหม่ เน้นการใช้เทคโนโลยีมาสร้างความสะดวกสบาย ส่วนอีก 30% เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่ มองธุรกิจในมุมที่พวกเขามองเห็นว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยได้ และที่สำคัญคือการจัดแข่งขันสตาร์ทอัพรอบนี้ มีสตาร์ทอัพที่ตรงกับแนวคิดของงานอย่างแท้จริง บางส่วนทำธุรกิจอยู่แล้วและต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย"

ซึ่งการแข่งขันแบบเข้มข้นตลอดช่วง 2 วันของงาน “Minor Tasting The Future –Hackathon 2018” ในหัวข้ออย่าง Future of Food Retail Service, Future of Franchise, Future of Dining for Aging Society, Digital Restaurant, Dining For The Hyper Millennials และ Delivery 4.0 and Beyond ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหารจากไมเนอร์กรุ๊ป และ Mentor ระดับแนวหน้าของเมืองไทยมาช่วยให้ผู้เข้าแข่งขันได้นำแนวคิดไปต่อยอดสู่ธุรกิจจริงได้เร็วขึ้น

มร.วิลเลี่ยม ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และ Mentor ระดับแนวหน้าของเมืองไทย ร่วมให้คำแนะนำกับ Startup ในโครงการตลอดทั้ง 2 วัน

นอกจากความน่าสนใจของการจัดงานแล้ว จุดสำคัญของ “Minor Tasting The Future –Hackathon 2018” ในครั้งนี้ อยู่ที่ผู้จัดใหญ่อย่างไมเนอร์กรุ๊ป ที่ไม่ได้มองว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นเพียงการเฟ้นหา Startup ในกลุ่มธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีกอาหารเท่านั้น แต่ต้องการที่จะใช้เวทีนี้ ในการเรียนรู้รูปแบบการทำธุรกิจใหม่จากสมองของคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวความคิดแตกต่างจากเดิม สามารถพัฒนาธุรกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือที่รู้จักกันดีว่าเข้าสู่ยุค Digital Disruption ที่จะเข้ามามีผลกระทบกับทุกธุรกิจ ดังนั้นการเฟ้นหาและทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ จึงเป็นหนึ่งในแนวทางในการช่วยสร้างการเจริญเติบโตและสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของไมเนอร์กรุ๊ปนับจากนี้ 

ซึ่งในช่วง Mentoring Session ตลอดทั้ง 2 วัน ได้จัดให้มีการให้ข้อมูลความรู้ และให้คำแนะนำปรึกษาเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะนั้น ผู้บริหารไมเนอร์ทั้งในระดับสูง และผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย โดยไม่เพียงแค่มาสังเกตการณ์เท่านั้น แต่ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้แนวทางในการทำธุรกิจใหม่ ๆ จากบรรดา Startup เหล่านี้ ที่สำคัญคือได้เห็นความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนระหว่างการทำงานของ Startup ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในโลกธุรกิจปัจจุบัน ตามแนวทางของ มร.วิลเลี่ยม ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งใจไว้ว่างาน “MinorTasting The Future – Hackathon 2018” ครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าในรูปแบบของ "Startup Mindset"

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นทีมที่ได้รับรางวัลทุกทีม ที่นอกจากจะมีแนวทางธุรกิจที่น่าสนใจแล้ว ยังจะมาช่วยต่อยอดให้ธุรกิจของไมเนอร์ สามารถเดินหน้าไปในยุคที่เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ท้าทายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทีมผู้ชนะอย่าง ทีม Wake Up ที่นำเสนอแฟรนไชส์เครื่องชงกาแฟสดอัจฉริยะ ชงได้ทั้งกาแฟร้อนและเย็นอัตโนมัติในเครื่องเดียว จุดเด่นเน้นการทำกาแฟสด นมสดปรุงใหม่ พร้อมเชื่อมต่อระบบบริหารจัดการร้านที่มีประสิทธิภาพ ด้วยคอนเซ็บ Digital Cafe ของการเปิดร้านกาแฟ 24 ชั่วโมง โดยทีมมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจกาแฟและธุรกิจแฟรนไชส์อย่างแท้จริง ซึ่งทีม Wake Up กล่าวว่า "จากการทำธุรกิจที่ผ่านมา พบว่าการทำร้านมีการลงทุนสูงและมีต้นทุนในหลายด้าน การขยายสาขาจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงคิดวิธีที่จะลดต้นทุนดังกล่าว
แต่สามารถขยายสาขาไปได้มากขึ้น และเป็นที่มาของการคิด Intelligent
Machine ขึ้นมา ด้วยแนวคิดที่จะต้องสามารถคงคุณภาพและรสชาติของกาแฟได้เหมือนต้นฉบับ และที่สำคัญต้องเป็นกาแฟสดชงใหม่ทั้งร้อนและเย็น"
ซึ่ง Wake Up เป็นทีมที่ มร.วิลเลี่ยม หรือ คุณบิล ไฮเนกี้ CEO ของ ไมเนอร์กรุ๊ป ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ถึงขนาดแอบไปหากาแฟแบรนด์นี้ถึงที่ร้าน เพื่อชิมรสชาติด้วยตนเองเลยทีเดียว 

รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Wake Up

ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ทีม Food Hunter ซึ่งเป็น Crowd-Funding แพลตฟอร์มเพื่อเป็นแฟรนไชส์สำหรับเพิ่มทุนจากนักลงทุนในการเริ่มธุรกิจแฟรนไชส์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Food Hunter

และทีมรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือทีม EdenAgritech โซลูชันในการเคลือบอาหารเพื่อความสดทำให้ยืดอายุของผลไม้ที่ขายอยู่หน้าร้านให้คงความสดนานยิ่งขึ้น

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Eden Agritech

นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ Bill Surprise Award โดยทีมที่ได้รับรางวัลนี้มี 2 ทีมคือ Maneuver ที่ใช้โดรนส่งของ และ Memeal Diettitian AI แพลตฟอร์มที่ช่วยกำหนดอาหารจากนักโภชนาการโดยผู้ใช้เพียงกรอกข้อมูลสุขภาพของตนเอง แล้วแอพพลิเคชันจะเลือกอาหารให้ตามหลักโภชนาการและความเหมาะสม โดยทางแอพพลิเคชันยังจะเชื่อมโยงกับร้านอาหารที่ร่วมมือไว้ เพื่อปรุงอาหารให้ตามต้องการและสามารถจัดส่งให้ได้ในรูปแบบดิลิเวอรี่

รางวัลพิเศษ Bill Surprise Award ทีม Maneuver
รางวัลพิเศษ Bill Surprise Award ทีม Memeal : Dietitian AI

มร.วิลเลี่ยม ไฮเน็ค กล่าวว่าหลังจากงานนี้ทางไมเนอร์กรุ๊ปจะกลับไปติดตามผลที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานร่วมกับ Startup นอกจากนี้ยังจะนำแนวคิดของสตาร์ทอัพทั้งทีมที่ได้รับรางวัลและผู้ที่เข้ารอบที่มีแนวโน้มต่อยอดทางธุรกิจกับไมเนอร์กรุ๊ป มาวิเคราะห์และปรับให้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจ การจะก้าวออกมาทดลองสิ่งใหม่ ๆ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจจะเพิ่มหน่วยงานด้าน Innovation เพื่อทรานสฟอร์มองค์กรให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง  

"Digital Disruption ของโลกธุรกิจในช่วง 5 ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เราจึงต้องมีการเตรียมพร้อม ซึ่งการจัด Minor Tasting The Future – Hackathon 2018” ถือเป็นการทำความรู้จักกับสิ่งใหม่ ๆ จนต่อยอดไปสู่การจับมือกับนักพัฒนานวัตกรรมและสตาร์ทอัพเพื่อทำธุรกิจร่วมกันอันจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้แก่กันและกัน"

มร.วิลเลี่ยม ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ กำลังเข้ามาเปลี่ยนวิธีในการดำเนินธุรกิจ เปลี่ยนวิถีการจับจ่ายของผู้บริโภครวมถึงเปลี่ยนวิธีการแสดงความคิดเห็นและการถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นการทำธุรกิจในปัจจุบัน จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การแข่งขันระหว่างบริษัทอีกต่อไป แต่เป็นการแข่งขันกันในด้านของนโยบาย ซึ่งไมเนอร์พร้อมที่จะเดินหน้าสานต่อธุรกิจให้ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อนำหน้าคู่แข่งและรักษาความสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน การจัดงานครั้งนี้เป็นเสมือนการเปิดรับพันธมิตรใหม่ ๆ ที่มีมุมมองสดใหม่ พ่วงด้วยความคิดที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ของเราให้เกิดเป็นรูปธรรม 

นอกเหนือไปจากทีมผู้ชนะที่มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจแล้ว ในงาน “Minor Tasting The Future–Hackathon 2018” ครั้งนี้ ยังมีอีกหลายความคิดทางธุรกิจที่น่าสนใจ หลายทีมมีความคิดที่คล้ายคลึงกัน อาทิการมุ่งเน้นการคิดแพลตฟอร์มที่ช่วยในเรื่องการควบคุมอาหารเพื่อรักษาสุขภาพ การจำกัดปริมาณอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ต้องงดเว้นสิ่งที่ก่อให้เกิดโรค อย่างเช่น Foodindiv แพลตฟอร์มการส่งอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ให้คำแนะนำว่าควรจะกินอะไร เน้นผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดัน ผู้ใช้เพียงกรอกประวัติสุขภาพของตัวเองลงไปแล้วระบบจะเลือกอาหารที่เหมาะสม หรือแม้แต่การที่ผู้ใช้จะสามารถเลือกอาหารได้เองแล้วระบบก็จะบอกว่าเหมาะสมไหมด้วยการใช้ AI ในการประมวลผล แพลตฟอร์มนี้โฟกัสผู้ป่วยที่ต้องการควบคุมอาหารแบบจริงจัง หรือเน้นคนที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ

ทีม Foodindiv

หรือแม้แต่เรื่องของการใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของอาหาร อย่างทีม DCEN Supply Chain ได้นำเสนอการนำบล็อคเชนมาใช้ในห่วงโซ่อุปทาน เพราะมองว่าปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็น และการตรวจสอบทำได้ยาก แพลตฟอร์มนี้จึงใช้การตรวจสอบย้อนกลับด้วยบล็อกเชน ทำให้สามารถแทร็คเอกสารได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนปลายน้ำ แทร็คไปถึงระดับเกษตรกร ผ่านอินเทอร์เฟซที่เรียบง่าย ลดขั้นตอนการทำงานแบบเดิมที่ช้าและเพิ่มความสามารถในการติดตามที่มาของอาหารให้แม่นยำขึ้น

ทีม DCEN Supply Chain

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับแพลตฟอร์มคอมมูนิตี้ที่น่าสนใจอย่างทีม The Food Lab คอมมูนิตี้แพลตฟอร์มสำหรับแบ่งปันแนวคิดและสูตรอาหาร เชื่อมนักชิมเข้าด้วยกันและดึงเหล่านักชิมเข้ามาร่วมกิจกรรมออฟไลน์ผ่านงานอีเวนต์เกี่ยวกับอาหาร หากมีเมนูใหม่ก็นำเข้ามาโพสต์ไว้ในคอมมูนิตี้ สามารถขายสูตรอาหารเหล่านั้นได้ หรือจะเป็นเรื่องเก๋ ๆ อย่างทีม Cookstragram แอพพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพอาหาร และค้นหาประเภทของอาหาร สูตร/ส่วนผสมที่อยู่ในอาหารนั้น หรือสามารถหาชื่อเมนูอาหาร ร้านที่ขายอาหารจานนั้น ๆ หรือกระทั่งจะเรียนทำอาหารนั้นก็ได้ เป็นการตอบสนองได้อย่างตรงใจกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่มักจะชอบแชร์รูปอาหารออนไลน์

การหาพนักงาน Part Time หรือนักศึกษาฝึกงานคุณภาพ อย่างทีม Day Work – on demand staffing platform ที่ได้ Match งานและผู้ที่ต้องการหางานเข้าด้วยกันโดยอาศัย Work History, Profile Rating และ Location Based ทำให้ได้สามารถคัดคนที่มีคุณภาพและตรงกับงานในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งสามารถต่อยอดกับร้านอาหารและโรงแรมในเครือไมเนอร์อย่าง The Pizza Company, Swensens, Sizzler, Dairy Queen, Burger King, The Coffee Club, Thai express และ โรงแรมอนันตรา ที่มีสาขาอยู่ 2000 สาขา ทั้งในประเทศไทย และทวีปเอเชีย

ทีม Day Work

“Minor Tasting The Future -Hackathon 2018” ครั้งนี้ ถือว่าเป็นงานที่น่าจับตามองมากที่สุด เนื่องจากสอดรับกับจุดแข็งของเมืองไทยที่มีความได้เปรียบด้านอาหาร การได้นวัตกรรมใหม่จากกลุ่มสตาร์ทอัพหน้าใหม่อย่าง Food and Dining Tech จะช่วยยกระดับให้การก้าวไปสู่ความเป็นครัวของโลก ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับไมเนอร์กรุ๊ปเอง ก็จะสามารถรับมือกับ Digital Disruption ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นการใช้เทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องการของตนเอง ที่สำคัญยังช่วยส่งผลให้การเข้าสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ทำได้อย่างสมบูรณ์

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง