เทรนด์ด้านการศึกษาไทยและประเด็นความท้าทายในมุมมองคุณทราย นักวิจัย TDRI

July 6, 2019
Pat Thitipattakul

เริ่มต้นกันแล้วสำหรับโครงการ StormBreaker EdTech Accelerator บ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านการศึกษา Batch 2 ซึ่งใน session แรกนี้ เราได้พาสตาร์ทอัพทั้ง 4 ทีมไปพบกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และทีมนักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา Thailand Development Research Institute (TDRI) คุณทราย ณิชา พิทยาพงศกร และคุณตี่ วินิทร เธียรวณิชพันธุ์ โดยทั้ง 4 ทีมได้รับคำแนะนำแบบ 1-1 และทำความเข้าใจกับโจทย์ด้านการศึกษาที่เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นโซลูชั่นต่อไป


คุณทราย ได้กล่าวถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในประเทศของเราซึ่งมีผลกระทบต่อวงการศึกษาไทยเอาไว้ 3 อย่างหลัก ได้แก่

1. Demographic shift การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ภายในอีก 3 ปีนี้ นั่นหมายความว่าคุณครูก็จะทยอยเกษียณอายุไป เราจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณครูรุ่นใหม่ออกมาให้เพียงพอต่อแต่ละพื้นที่และให้มีศักยภาพที่ดี

ในขณะเดียวกันจำนวนเด็กที่เกิดในแต่ละปีนั้นลดลงเรื่อยๆ ผลกระทบต่อการศึกษาที่เห็นได้ชัดคือจำนวนเด็กที่สมัครมีน้อยกว่าจำนวนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเปิดรับทั้งหมดเสียอีก ในเมื่อปริมาณเด็กลดลง จึงเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ที่มักจะเปิดเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแทน 50% ของโรงเรียนทั่วประเทศถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว แต่ก็มีประเด็นท้าทายเพราะว่าจำนวนงบประมาณและทรัพยากรที่โรงเรียนในระบบจะได้รับถูกจัดสรรตามขนาดของโรงเรียน หมายความว่า หากโรงเรียนมีขนาดเล็ก ก็อาจได้รับเงินไม่เพียงพอในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือได้รับจำนวนอัตราครูไม่เพียงพอ ทำให้ครู 1 คนต้องทำหน้าที่หลายอย่างนอกเหนือจากการสอน เช่น งานธุรการ งานเอกสาร จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือมาช่วยลดงานส่วนอื่นของคุณครู เพื่อให้คุณครูมีเวลาไปทุ่มเทให้กับการวางแผนการสอนและพัฒนาความสัมพันธ์กับเด็กๆ

2. Technological shift การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

เทคโนโลยีด้านการศึกษาหรือว่า EdTech ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังที่เห็นได้ว่าทั้งมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ เริ่มเข้ามาทำ Massive Open Online Courses (MOOC) แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์กันเยอะขึ้น ช่วยให้การศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้นแต่ก็ยังเหมาะสมกับแค่คนบางกลุ่มอยู่และส่วนมากคนที่เข้ามาเรียนก็มักเป็นกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป ตัวคอร์สเรียนเองก็ยังเป็นรูปแบบการนำวิดิโอการสอนปกติมาอัพโหลด ยังไม่ค่อยมีสื่อที่ interactive มากนัก จึงประสบปัญหาว่ามีผู้เรียนจนจบทั้งหมดค่อนข้างน้อยทั้งที่เปิดให้ใช้ฟรี

นอกจากนี้ก็มีเทรนด์เรื่องของ Digital Disruption ที่เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ ทำให้คนบางส่วนตกงานหรือหางานยากขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่ต้องมีการ Reskill บุคลากรให้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับยุคดิจิทัล ในจุดนี้ EdTech ก็สามารถเข้ามาช่วยได้

3. Aspiration shift การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเป้าหมายและความต้องการ

ด้วยความที่จำนวนเด็กที่เกิดลดน้อยลง และแต่ละครอบครัวมักมีลูกไม่เกิน 1-2 คน ทำให้ผู้ปกครองกลุ่มที่พอมีฐานะให้ความสำคัญกับการศึกษามาก และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเกิดเป็นเทรนด์ว่าจำนวนเงินที่ผู้ปกครองใช้จ่ายในเรื่องการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น ให้ลูกเรียน รร.อินเตอร์ เป็นต้น

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความต้องการใบปริญญาเริ่มน้อยลงในบางสาขา จำนวนคนที่เรียนต่อปริญญาโทก็เริ่มลดน้อยลง เพราะในปัจจุบันมีทางเลือกต่างๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google เองก็ออกมาประกาศว่าไม่ดูใบปริญญา หากใครทำแบบทดสอบการเขียนโค้ดผ่านก็มีสิทธิได้รับการเรียกสัมภาษณ์ เทรนด์แบบนี้ทำให้คนเริ่มมาเลือกเรียนสิ่งที่เฉพาะเจาะจงและนำไปใช้ทำงานได้ทันที มากกว่าการไปเขียนหลักสูตรที่ใช้เวลาหลายปีแบบเดิม

นอกจากนี้ คุณทราย ยังได้เล่าประเด็นความท้าทายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาไว้ดังนี้ ซึ่งต้องการฝากให้เหล่า EdTech startup และผู้ที่สนใจด้านการศึกษาทั่วประเทศนำไปคิดต่อ

  • ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษายังเป็นประเด็นใหญ่สำหรับประเทศไทย มีเด็กนอกระบบจำนวนมากที่ขาดโอกาสศึกษาต่อเพราะฐานะยากจนและพ่อแม่ไม่สนับสนุนให้เรียนต่อ
  • คุณภาพการศึกษาต่ำกว่ามาตฐานโลกของการวัดระดับ PISA มาก วิธีการสอนและการตั้งโจทย์ข้อสอบไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักพลิกแพลง เนื้อหาการสอนบางทีไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม เน้นแต่ท่องจำไปสอบอย่างเดียว ไม่ได้เข้าใจหรือนำไปใช้ได้จริง
  • เน้นติวสอบมากเกินไป วัดผลโดยการให้ความสำคัญกับคะแนนสอบมากเกิน ขาดการสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบ พัฒนาทักษะที่จำเป็น และสร้างมุมมองทัศนคติ ควรสอนให้เด็กรู้สึกอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา life-long learning
  • ปัญหาส่วนมากของ EdTech และการเรียนออนไลน์คือคนมักเรียนไม่จบ บางครั้งมียอดผู้ใช้จำนวนมาก แต่กลับมีอัตรการเรียนจบ completion rate ต่ำ ปัจจัยที่จะทำให้ EdTech ประสบความสำเร็จได้ต้องมีส่วนประกอบที่ลงตัวทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ Pedagogy วิธีการสอนที่เหมาะสม Technology มีเทคโนโลยีที่ใช้งานได้ง่ายและเสถียร Content เนื้อหาต้องนำเสนอให้น่าสนใจและสอดคล้องกับเป้าหมายของผู้เรียนจึงจะสามารถดึงดูดให้เรียนจนจบ
  • โรงเรียนขาดทรัพยากร ไม่มีงบประมาณ ไม่มีความเชี่ยวชาญ เช่น สนใจลองสื่อการเรียนรู้แบบใหม่ แต่ไม่ทราบว่าสื่อแบบไหนที่นำมาใช้ได้แล้วช่วยพัฒนา ห้องคอมพิวเตอร์ใช้งานไม่ได้
  • ความไม่มั่นคงทางการเมืองทำให้นโยบายด้านการศึกษาไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนขาดอิสระในการตัดสินใจ ยังคงมีอุปสรรคในเรื่องการทดลองนวัตกรรมใหม่ จึงเกิดเป็นโครงการ sandbox พื้นที่นวัตกรรมของ TEP ที่จะมาลองหาโมเดลมาปรับใช้


สตาร์ทอัพในโครงการ StormBreaker ของเราแต่ละทีมมุ่งมั่นที่จะแก้โจทย์ในแต่ละด้าน แต่แน่นอนว่ายังมีปัญหาอีกหลายด้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เราจึงขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจในเรื่องการศึกษามาร่วมมือกันสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ให้กับประเทศ โดยสามารถติดต่อมา partner กับโครงการของเรา หรือ ร่วม partner สนับสนุน EdTech startup ในโครงการได้ที่ https://www.disruptignite.com/partnership ซึ่งหากท่านเป็นบุคคลธรรมดาก็สามารถสนับสนุนโดยการสมัครเป็น volunteer มาช่วยงานสตาร์พอัพด้านการศึกษาแบบ part-time ได้เช่นกัน

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง