Education 2030 - อนาคตการศึกษาในอีก 10 ปีข้างหน้า

September 16, 2020
Pat Thitipattakul

ยังจำได้ไหม? กับการเรียนหนังสือในห้องเรียน ทำการบ้านในสมุดส่งคุณครู สงสัยการบ้านข้อไหนก็ต้องโทรถามเพื่อน หรือส่งข้อความ msn บนคอมพิวเตอร์ เวลาเรียนพิเศษก็ต้องเดินทางไปที่สถาบันเพื่อไปนั่งเรียนในห้องเรียนตามเวลาที่สถาบันกำหนด


ภาพความทรงจำทั้งหมดเหล่านี้ คือ ภาพของการศึกษาในปี 2010 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วนั่นเอง ภาพทั้งหมดนี้ได้จากหายไปแล้วโดยสิ้นเชิงด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Smartphone และ Internet ความเร็วสูง ทุกวันนี้หากคุณต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร สามารถเรียนรู้ออนไลน์ได้หมดทุกหัวข้อ เข้าถึงข้อมูลจากทั่วโลก จากแหล่งความรู้ระดับโลก เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามความสะดวก ได้ทั้งบนมือถือ แท็ปเล็ต และคอมพิวเตอร์


จะเห็นได้ว่า ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปีนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายมหาศาล ซึ่งส่งผลกับชีวิตของเราทุกคน การเรียนรู้ไม่ได้จบอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็น “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการที่หุ่นยนต์ AI สามารถทำงานบางประเภทแทนคนได้ ความรู้บางประเภทจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ในปี 2020 นี้ เราได้เริ่มต้นทศวรรษใหม่กันแล้ว มาดูกันว่า แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอีก? เราควรจะปรับตัวอย่างไร?


งานวิจัยของ HolonIQ แพลตฟอร์มข้อมูลเทรนด์และงานวิจัยทางการศึกษาระดับโลก เผย 5 ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในโลกแห่งการศึกษาในยุค 2030 ซึ่งได้วิเคราะห์มาจากการใช้ Machine Learning ดึงข้อมูล 5,000 จุดจากแหล่งข่าวชั้นนำทั่วโลก ผนวกกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่ทำงานวิจัยการศึกษาอย่าง World Bank, OCED และ UNESCO มาดูกันว่า 5 ความเป็นไปได้นี้ มีอะไรบ้าง


Scenario 1: Education as Usual

ในรูปแบบความเป็นไปได้แบบ status quo นี้ สถาบันการศึกษาจะยังคงเป็นแหล่งหลักในการเรียนรู้เหมือนดังเช่นทุกวันนี้ แต่ก็ต้องเผชิญความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย และการที่ต้อง reskill สาขาอาชีพเสี่ยงตกงานตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดแรงงาน ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ว่าสถาบันการศึกษาหลายแห่งปรับตัวตามเทรนด์ไม่ทัน จึงมีการคาดการณ์ว่าจะมีสถาบันหลายแห่งที่ต้องปิดตัวไปในอนาคต


ในทางตรงกันข้าม จะมีสถาบันรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น ที่เป็นสถาบันการเรียนรู้ที่เน้นทักษะอาชีพโดยเฉพาะ โดยอาจเป็นในรูปแบบของการร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ภาคเอกชน เพื่อสร้างหลักสูตรที่เน้นทักษะที่นำไปใช้ในการทำงานได้จริง ไม่เน้นทฤษฎี จบหลักสูตรก็สมัครงานตำแหน่งนั้น ๆ ได้เลย การเรียนนี้ไม่ได้จำกัดแค่นิสิต นักศึกษา แต่คนทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน reskill ตัวเอง ก็สามารถมาเรียนได้ 


ยังมีอีกเทรนด์หนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้น คือ เกิดการจ้างงานข้ามประเทศกันมากขึ้นในรูปแบบการทำงานออนไลน์ เนื่องจากหลายประเทศจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบเต็มตัว จะประสบภาวะขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่หลายประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาเองก็จะกลายมาเป็นแหล่งพัฒนาแรงงานมีฝีมือ ดังนั้น การเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานยังคงมีความสำคัญอยู่ การจ้างงานออนไลน์ข้ามประเทศมักมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เทคโนโลยี blockchain เองก็จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยยืนยันตัวตน ตรวจสอบประวัติการศึกษา และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล


Scenario 2: Regional Rising 

ในรูปแบบนี้ เป็นการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในรูปแบบกลุ่มประเทศ มีการร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคต่าง ๆ จุดที่น่าสนใจคือ ประเทศต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคมักประสบความท้าทายในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน จึงมองว่าการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคและแก้ปัญหาร่วมกันเป็นทางที่ได้ผลดีที่สุด แทนที่จะให้แต่ละประเทศแยกย้ายกันไปหาวิธีรับมือปัญหาของตนเอง ตัวอย่างเช่น ไทย อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการศีกษาและความยากจนคล้ายคลึงกัน


สิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาคการศึกษาในกรณีนี้คือการที่สถาบันการศึกษาในภูมิภาคร่วมมือกันปรับหลักสูตร แบ่งปันข้อมูลกัน ร่วมกันพัฒนามาตรฐานการอบรมครูให้เป็นสากลจนสามารถทำโปรแกรม exchange คุณครู ให้คุณครู 1 คนสามารถสอนในหลายประเทศได้หมุนเวียนไป คุณครูในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสังคมสูงวัยก็สามารถทำงานต่อโดยการไปสอนนักเรียนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนคุณครูได้ ซึ่งการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา จะเป็นกำลังสำคัญ


นอกจากการ exchange คุณครูแล้ว จะเกิดการ exchange นักเรียนและคนทำงานเพิ่มมากขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและป้องกันภาวะสมองไหล คนเก่ง ๆ ไปทำงานประเทศตะวันตกจนหมด โดยการสร้างโอกาสในการทำงานที่น่าดึงดูดในภูมิภาคของตนเอง


การเรียนรู้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะยังคงเป็นโครงสร้างแบบเดิม แต่เพิ่มรูปแบบ blended learning ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เป็นการเรียนออนไลน์แต่เรียนในห้องเรียน ผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษระดับภูมิภาค สอนออนไลน์แล้วให้เด็กหลาย ๆ ประเทศเข้ามาเรียนพร้อมกัน โดยมีคุณครูในแต่ละห้องเรียนช่วยดูแล


Scenario 3: Global Giants

ในรูปแบบนี้ เทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างภูมิภาคจะเชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน เป็นปัจจัยส่งเสริมให้บริษัทที่เป็นผู้นำตลาดเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมหาศาลทั่วโลก ผู้เล่นรายย่อยแข่งขันในตลาดได้ยากด้วยทรัพยากรที่จำกัดกว่า เทรนด์นี้เห็นได้ชัดในสภาพตลาดการศึกษาปัจจุบัน ที่ผู้เล่นรายใหญ่กินส่วนแบ่งตลาดเหนือกว่ารายย่อยหลายเท่าตัว


เทคโนโลยีการศึกษามีความสำคัญมากในการเจาะตลาดโลก มีการคาดการณ์ว่าตลาดการศึกษาจะมีขนาด 10 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2030 ตลาดที่จะเติบโตมากที่สุดคือในทวีปเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประชากรจำนวนมาก และล้วนใช้ smartphone เป็นหลัก ผู้เล่นรายใหญ่จะเริ่มทยอยซื้อกิจการ EdTech รายย่อยจนในที่สุดผู้เล่นรายใหญ่จะสามารถให้บริการที่ครอบคลุมทุกส่วนของการเรียนรู้เชื่อมโยงกัน ทั้งคอร์สเรียน แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลการเรียน การวัดผล การสื่อสาร และการรายงานผลการเรียน และมีการร่วมมือกันระหว่างผู้เล่นรายใหญ่กับบริษัทชั้นนำ เพื่อสร้าง solution การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทักษะการทำงาน บางมหาวิทยาลัยอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจต้องหาทางร่วมมือกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่กลุ่มมหาวิทยาลัยชื่อดังที่ปรับตัวทันก็จะได้เปรียบมาก


หากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แล้วยิ่งเป็น solution คุณภาพระดับโลก การพัฒนาการเรียนการสอนก็จะเป็นแบบ data-driven และ personalized มากขึ้นเพราะมีจุดข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ข้อมูลการเรียนแบบ real-time ส่งให้พ่อแม่และคุณครู ทำให้ช่วยสอนได้ถูกจุด


Scenario 4: Peer to Peer

รูปแบบนี้จะเป็นไปได้ถ้าหากว่าการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 1-1 ระหว่างบุคคล peer-to-peer ได้รับการยอมรับแบบกว้างขวางภายในปี 2030 ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะว่าเทคโนโลยีได้เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกันแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีราคาถูกลง ทำให้เข้าถึงได้กว้างขึ้นไปอีก รูปแบบนี้เหมาะกับการเรียนรู้ทักษะการทำงานของผู้ใหญ่มาก จะมีการรับรองคุณภาพด้วย rating ของผู้สอนซึ่งถูกโหวตในระบบเปิดและการออกใบรับรองแบบใหม่ ๆ เป็นการกระจายการเรียนรู้แบบกว้างขึ้นไปอีกเพราะผู้สอนเป็นใครก็ได้ที่มีทักษะและประสบการณ์ในสายอาชีพนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากสถาบันแบบดั้งเดิม การเรียนการสอนจะถูกโยกจากระดับสถาบันมาเป็นระดับบุคคล


การใช้ smartphone ผสานกับบทเรียนขนาดสั้น micro-learning จะทำให้การเรียนรู้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้เรียนเองก็มีทางเลือกใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะต้องไปนั่งเรียนทุกอย่างในหลักสูตร สามารถแตกย่อยเลือกเรียนแค่หัวข้อที่ต้องใช้ในการทำงานได้ ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเก็บสะสบไปเป็น module ย่อยจากหลาย ๆ ผู้สอนได้ 


จุดนี้จะกดดันให้สถาบันการศึกษาต้องปรับโครงสร้างหลักสูตรให้เป็นหน่วยย่อยมากขึ้น การเรียนปริญญาตรีอาจไม่จำเป็นต้องเรียน 3-4 ปีอีกต่อไปในเมื่อผู้เรียนมีทางเลือกใหม่ สามารถทยอยเรียนหน่วยย่อยสะสมไปและทำงานไปด้วยก็ได้ ซึ่งข้อมูลการเรียนนี้จะถูกเก็บสะสมบน blockchain


Scenario 5: Robo Revolution 

รูปแบบนี้มีสมมติฐานคือถ้าหาก AI มีการพัฒนาไปก้าวไกลและได้นำมาใช้ทดแทนตำแหน่งงานบางส่วนแล้ว ภาพรวมเศรฐกิจโลกจะเติบโตอย่างก้าวไกลด้วยต้นทุนที่ลดลงและผลิตผลที่เพิ่มขึ้น ผู้คนไม่ต้องทำงานซ้ำซากจำเจที่หุ่นยนต์สามารถทำได้ เปลี่ยนมาเน้นทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ 


ในการศึกษา AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากเช่นกัน แต่แบบที่ได้ผลดีที่สุดยังคงต้องเป็นการผสมผสานระหว่างระบบอัตโนมัติกับความใส่ใจของคุณครู เพราะการเรียนรู้ของคน ไม่ใช่การเขียนโค้ดระบบสั่งการเหมือนหุ่นยนต์ คาดการณ์ว่าการเรียนรู้จะเป็นแบบ personalized ปรับให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคนมากที่สุดโดยเรียนผ่านระบบ ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน นักเรียนแต่ละคนจะได้เรียนบทเรียนที่ต่างกันตามระดับความรู้ความเข้าใจแต่ละคน ครูอาจต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน มาเป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำ ทำให้ครูมีเวลาและมีข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้คุณครูสามารถให้กำลังใจนักเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ สอนเพิ่มเติมในจุดที่ต้องการความช่วยเหลือ ดูแลเอาใจใส่นักเรียนแต่ละคนที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน 


รูปแบบการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ก็จะเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้เช่นกัน คือเรียนผ่านระบบแต่มี career coach คอยช่วย จะมีคนวัยทำงานหลายคนต้องตกงานจากหุ่นยนต์ก็จริง แต่ก็คาดการณ์ว่าจะมีอาชีพแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นเช่นกัน ตราบใดที่พยายาม reskill ตัวเองก็สามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ ได้ และระบบการเรียนแบบนี้นี่เองที่จะเข้ามาช่วยให้เรียนรู้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


สำหรับระดับประถมและมัธยม AI อาจมาในรูปแบบผู้ช่วยคุณครูอัจริยะ ช่วยลดงานเอกสารของคุณครู เช่น การเตรียมการสอน การเช็คชื่อ การวัดผลการเรียน มีระบบอัจริยะคอยอัพเดทสถานะและแจ้งเตือนคุณครูหากมีเด็กคนไหนน่าเป็นห่วง ทำให้คุณครูมีเวลามากขึ้นในการทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ และให้ความใส่ใจแบบใกล้ชิดได้มากขึ้น  


จาก 5 รูปแบบนี้ แบบไหนน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด? 

5 รูปแบบนี้เป็นเพียงการคาดการณ์จากฐานข้อมูลทั่วโลกที่มีในปัจจุบัน จากการวิเคราะห์ของ HolonIQ คาดว่าสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือการผสมผสานระหว่างรูปแบบต่าง ๆ และในแต่ละภูมิภาคจะปรับใช้รูปแบบที่ต่างกันขึ้นอยู่กับโครงสร้างประชากร สภาพเศรษฐกิจและสังคม

แต่ไม่ว่ารูปแบบไหนจะเกิดขึ้นก็ตาม สิ่งที่เราทุกคน และทุกประเทศ หนีไม่พ้นเลยก็คือ “การเปลี่ยนแปลง” เราทุกคนต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รักการเรียนรู้ และสนใจเรื่องการศึกษา ขอเชิญเข้าร่วมงาน Education Disruption Conference 2 วันที่ 14-28 พฤศจิกายน 2563 นี้ พบกับคุณ Maria Spies Co-founder & Managing Director HolonIQ ที่จะมาเจาะลึกเทรนด์การศึกษาในโลกแห่งอนาคต สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.disruptignite.com/conference


ขอบคุณข้อมูลจาก HolonIQ Education in 2030 report 


Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง