กสศ. เผยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย 2562

September 16, 2020
Pat Thitipattakul

รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีเด็กจำนวนมากที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะฐานะยากจน เด็กไทยมากกว่า 5 แสนคน หลุดออกนอกระบบไปแล้ว และอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ 

ยิ่งในช่วงวิฤตเช่นนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นปัญหาที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จากสถานการณ์ COVID-19 เห็นได้ชัดว่าเด็กกลุ่มที่มีฐานะสามารถศึกษาต่อที่บ้านได้อย่างไม่ติดขัด มีเทคโนโลยีพร้อมใช้ เข้าถึงสื่อการศึกษาคุณภาพได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ในเดียวกัน ผู้ที่มีฐานะยากจนต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย นอกจากเรื่องการเรียนแล้ว ยังมีปัญหารุมเร้าเรื่องฐานะทางบ้าน เศรษฐกิจแย่ลง หลายครอบครัวได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ต้องช่วยที่บ้านทำมาหากินเพื่อความอยู่รอด ไม่สามารถโฟกัสกับการเรียนได้ ในระยะยาวมีความเสี่ยงออกนอกระบบ โอกาสในอนาคตก็ถูกจำกัดด้วยความจำเป็นในยามปัจจุบัน 

ในทำนองเดียวกัน หากพูดถึงการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ร้อยทั้งร้อยก็คงมองว่าเรื่องปกติที่ต้องเรียนต่อ แต่สำหรับครอบครัวยากจนกลุ่ม 20% ล่างสุดของประเทศแล้ว มีเด็กแค่เพียง 5% เท่านั้นที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย


กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คือ หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ กสศ. ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 ปัจจุบันดำเนินงานมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ทีมงานของ กสศ. เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีใจรักเรื่องการช่วยเหลือการศึกษาไทย 

ในบทความนี้ กสศ. จะมาเล่าที่มาที่ไป และแชร์เกี่ยวกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยในปีล่าสุด


ประเทศไทยถูกฉุดรั้งด้วยความเหลื่อมลํ้าทั้งในทางเศรษฐกิจและด้านสังคม

ขณะนี้ประเทศไทยกําลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์สําคัญสองประการ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ และสถานการณ์ความเหลื่อมลํ้าทั้งในทางเศรษฐกิจและด้านสังคม ซึ่งจะเป็นสิ่งที่คอยฉุดรั้งไม่ให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ความเป็นประเทศรายได้สูงได้ 

โครงสร้างประชากรจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก อัตราการเกิดลดต่ำลงเหลือเพียง 1.5 ต่อผู้หญิงหนึ่งคน ต่ำกว่า 2 ซึ่งเป็นระดับที่นานาชาติยึดถือ อีกทั้งจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัว

ยังมีความท้าทายเรื่องการกระจายรายได้อีกที่น่าเป็นห่วง ธนาคารโลกรายงานว่าสถานการณ์ความยากจน

ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ประชากรกว่าร้อยละ 10 ของประเทศซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อวันไม่ถึง 60 บาท จึงจําเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเร่งด่วน หากประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงได้

จำนวนของเด็กและเยาวชนอายุ 6-14 ปี ทั่วประเทศไทย จําแนกตามภูมิภาคและระดับความยากจน พบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ มีจํานวนเด็กและเยาวชนที่ยังอยู่ในวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ และมีฐานะยากจนสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับภาคกลางหรือกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจของประชากรในประเทศที่รุนแรง



สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย 2562

ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานมีแนวโน้มลดลง:

หากพูดถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับมัธยมปลาย หรือ ปวช. แล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ด้วยเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ระดับประถมศึกษาเข้าถึงแล้วประมาณ 98% ส่วนระดับมัธยมศึกษาประมาณ 70% 

แต่สําหรับการศึกษาระดับที่สูงขึ้น ยังมีเพียงแค่ 5% ของผู้ที่มาจากกลุ่มครอบครัวยากจนเท่านั้นที่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ

ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษามีแนวโน้มที่สูงขึ้น:

แม้เด็กและเยาวชนจะได้มีโอกาสเข้าเรียนในการศึกษาระดับพื้นฐานที่สูงขึ้น แต่สถานศึกษาในแต่ละแห่งก็มีทรัพยากรทางการศึกษา ทั้งด้านอุปกรณ์การศึกษา บุคลากรทางการศึกษา มีความพร้อมในการให้การศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ดังที่เห็นได้ว่า โรงเรียนในเมืองมีความพร้อมกว่ามาก ต่างจากโรงเรียนชนบทขนาดเล็กที่ยังขาดแคลนอยู่มาก 

ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่-ขนาดเล็ก:

คะแนนโอเน็ตเฉลี่ยห้าวิชา ชั้น ป.6 ของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สูงกว่าโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 32% ในปี 2560 ซึ่งหากเทียบกับปี 2552 ซึ่งต่างกันเพียง 14% แล้วจะพบว่า ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มสูงกว่าเดิมเสียอีก (ชัยยุทธ์, 2563)

ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมือง-ชนบท: 

ผลการทดสอบโอเน็ตวิชาคณิตศาสตร์ชั้น ป.6 และ ม.3 แยกตามที่ตั้ง ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนนอกเขตเทศบาลโดยเฉลี่ยได้คะแนนน้อยกว่าโรงเรียนที่ตั้งในเขตเทศบาลเพียงเล็กน้อย แต่ในระดับมัธยม จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด (ชัยยุทธ์, 2563)

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาระหว่างภูมิภาคในประเทศไทย:

พิสัยของคะแนนในระดับ ป.6 และ ม.3 ของภาคใต้และภาคเหนือสูงกว่าของภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนค่าเฉลี่ยคะแนนทดสอบโอเน็ตพบว่า คะแนนเฉลี่ย ป.6 ของภาคกลางมีค่าสูงที่สุด เท่ากับ 38.2 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคะแนนเฉลี่ยตํ่าที่สุด 36.9 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ยคะแนนทดสอบโอเน็ต ม.3 พบว่า ภาคเหนือมีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด 33.1 คะแนน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคะแนนเฉลี่ยตํ่าที่สุด 31.4 คะแนน

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยในระดับนานาชาติ:

ผลการวิเคราะห์ของข้อมูลการสอบ PISA รอบล่าสุดในปี 2018 ทําให้เห็นหลักฐานว่าสถานการณ์ของความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าอยู่ในระดับสูง 

นักเรียนไทยมีการแบ่งแยกกันเรียนในโรงเรียนตามระดับเศรษฐฐานะที่ค่อนข้างชัดเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ กล่าวคือนักเรียนที่มีฐานะกับนักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสไม่ได้เรียนร่วมกัน คนมีฐานะได้เรียนโรงเรียนดี กระจุกตัวกันในเมือง เป็นกลุ่มที่ได้คะแนนสอบสูง ส่วนกลุ่มด้อยโอกาสก็แล้วแต่สถานภาพจะเอื้ออำนวย (ภูมิศรัณย์, 2563)



ความเสมอภาคทางการศึกษาคือกุญแจสําคัญในการพัฒนาประเทศชาติ

เราชื่อว่า การทําให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง เป็นทางออกหนึ่งของปัญหานี้ จะทําให้คนไทยเป็นกําลังทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพและผลิตภาพ ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ หลุดพ้นจากความยากจน ประเทศไทยก็จะสามารถมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 

กสศ. มุ่งช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนกว่า 4.3 ล้านคน แบ่งออกเป็น 7 ประเภทย่อยดังภาพ


ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทาง กสศ. เองก็กำลังดำเนินโครงการหลัก 9 โครงการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม

  1. โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข
  2. โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ Area-Based Education ช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบ
  3. โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ให้ทุนเรียนต่อ ปวช. ปวส. สำหรับนักเรียนยากจนที่เรียนดี
  4. โครงการพัฒนาสถาบันต้นแบบด้านการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย เพื่อดูแลและพัฒนากลุ่มเด็กเล็กที่ยากจน เตรียมความพร้อมให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา
  5. โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสําหรับนักเรียนในพืนที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพือพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (ครูรัก(ษ์)ถิ่น) 
  6. โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ให้ทุนเรียนต่อปริญญาตรีถึงปริญญาเอก สำหรับนักศึกษายากจนที่เรียนดีซึ่งกําลังใกล้จบ ปวส. หรืออนุปริญญาสายอาชีพ
  7. โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) 
  8. โครงการการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ในโรงเรียนเพื่อความเสมอภาคในการเติบโตเป็นแรงงานคุณภาพยุค 4.0 ของเยาวชนไทย 
  9. โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส

นอกเหนือจากนี้ทาง กสศ. ยังสนใจนวัตกรรมเพื่อการศึกษาเป็นอย่างมาก จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีไอเดียใหม่ ๆ และต้องการสร้างการศึกษาที่เสมอภาค สามารถเข้ามาร่วมมือ ร่วมเสนอไอเดีย ร่วมดำเนินโครงการไปกับ กสศ. ได้ โดยในงาน Education Disruption Hackathon 2 ครั้งนี้ ผู้ที่ผ่านคัดเลือกให้เข้าร่วมจะมีโอกาสได้พูดคุยอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารและทีมผู้เชี่ยวชาญจาก กสศ. สามารถขอรับคำปรึกษา และหากโครงการที่นำเสนอมีศักยภาพ จะมีโอกาสได้รับเงินทุนทำต่อ และ ได้รับการสนับสนุนการทำโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น data / technology / assessment / financial / research/ partnership

ฝั่ง Social Impact Track สำหรับผู้ที่ต้องการการพัฒนาการศึกษาหรือการเรียนรู้ ที่เน้นช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา และผู้ที่ทำงานในด้านการศึกษา ไม่ว่าในหรือนอกระบบการศึกษา เราเปิดรับทุกไอเดีย อาจเป็นโครงการ, Project, หรือนวัตกรรมใด ๆ ก็ได้ ที่สามารถสร้าง Impact ได้จริง สามารถอ่านรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมงาน Education Disruption Hackathon 2 เพิ่มเติมได้ ที่นี่

ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Venture และพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่าน Content สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งฟังประสบการณ์ จาก EdTech Startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่

เข้าร่วมกลุ่ม Facebook Group Education Disruption พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียหรือถามคำถามเพิ่มเติม ที่นี่ https://www.facebook.com/groups/EducationDisruption/


ที่มา EEF Annual Report 2019 และเว็บไซต์ https://www.eef.or.th/

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง