ถอดบทเรียนเปลี่ยนห้องเรียนสู่ online รับมือ COVID-19

September 16, 2020
Pat Thitipattakul

สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ทำให้สถาบันการศึกษาทั่วโลกต้องปิดการเรียนการสอนในห้องเรียน บางแห่งก็ปิดไปเลยแล้วค่อยมาสอนต่อปลายปี แต่บางแห่งก็ปรับตัวมาจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์แทน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่คาดไม่ถึงสำหรับบางโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่อาจไม่มีระบบรองรับ ไม่เคยทำมาก่อน คุณครูต้องปรับวิธีการสอนและเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยี ผู้ปกครองก็มีความกังวล

ถึงแม้จะมีอุปสรรคดังกล่าว แต่หลายแห่งก็สามารถทำได้สำเร็จ ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันจำกัด สร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้ดี ทำให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้ เราจึงได้รวบรวมวิธีการที่น่าสนใจจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศต่าง ๆ เพื่อถอดบทเรียนวิธีการปรับตัวของคุณครูและสถาบันการศึกษาในช่วง COVID-19 มาดูกันเลยว่าเขารับมือกันอย่างไร!


ข้อแนะนำในการปรับตัว จาก RDF International School ประเทศจีน 

RDF International School เป็นโรงเรียนประจำในเมืองเสินเจิ้น ประเทศจีน นักเรียนทั้งหมดเดินทางกลับบ้านในวันที่ 17 มกราคม 2563 ตั้งแต่ช่วงวันหยุดครุษจีน และด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงในจีน ทางโรงเรียนให้นักเรียนกักตัวอยู่บ้านยาว ๆ นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด นักเรียนหลายคนตอนเดินทางกลับบ้านก็ไม่ได้เอาหนังสือเรียนกลับไปด้วย เพราะไม่คิดว่าจะต้องกักตัวยาวถึง 60 วันเช่นนี้ 

ทางโรงเรียนเมื่อทราบถึงสถาการณ์ เริ่มใช้หาวิธีทำ distance learning การเรียนการสอนทางไกล โดยทันที จากความพยายามดังกล่าว โรงเรียนสามารถเริ่มปรับตัวได้สำเร็จในช่วงต้นกุมภาพันธ์ ผู้อำนวยการของโรงเรียน คุณเลแลน แอนเดอร์สัน ได้แชร์เคล็ดลับเป็นกำลังใจให้สถาบันอื่น ๆ ไว้ดังนี้

  • รักษากิจวัตรเวลาการเรียนแบบเดิม: พยายามให้คุณครูและนักเรียนใช้ตารางเวลาเรียนแบบเดิม แค่เปลี่ยนมาเป็นการเรียนแบบออนไลน์ เพื่อรักษากิจวัตรแบบเดิมให้คุ้นชิน ทำเป็นนิสัย สร้างวินัยในการเรียนแม้จะเป็นที่บ้าน การมีแบบแผนที่ชัดเจนแบบนี้จะช่วยให้กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปได้แบบราบรื่นมากขึ้น ทั้งการสอน การพูดคุย การประชุม การส่งข้อความอัพเดท
  • การบ้านเปลี่ยนเป็นแบบสั้น ๆ ไม่ต้องซับซ้อน: วิธีการสั่งการบ้านต้องสื่อสารเข้าใจง่าย กระชับแบบ bite-size ขนาดสั้นลงจากเดิม เพื่อให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าใจได้ตรงกันและทำการบ้านได้เสร็จสมบูรณ์ ถ้านักเรียนสามารถทำได้ดี ก็จะเกิดแรงบันดาลใจในการเรียน จึงแนะนำให้คุณครูนำการบ้านแบบเดิมที่วางแผนไว้ มาแบ่งย่อยเป็นส่วนเล็ก ๆ และทยอยสั่งไปแต่ละวันเป็นส่วน ๆ ไป แบบนี้จะช่วยส่งเสริมกิจวัตรด้วย 
  • ให้คุณครูทำวิดิโอสั้น ๆ ประกอบเพิ่ม: นอกเหนือไปจากคลิปสื่อการเรียนรู้บนอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ แนะนำให้คุณครูสร้างวิดิโอสั้น ๆ ง่าย ๆ เองด้วย คลิปที่มาจากตัวคุณครูเอง แม้คุณภาพการตัดต่ออาจสู้ไม่ได้ แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะคุณครูมีความสัมพันธ์กับนักเรียนโดยตรง สามารถพูดให้คำแนะนำได้ด้วย อาจทำเป็นคลิปอธิบายการบ้านก็ได้ เสริมจากการสั่งการบ้านที่เป็นข้อความ 
  • จัดการสอนแบบ live ด้วย แต่ไม่ต้องบังคับให้ทุกคนเข้า: ควรจัดแบบ live สัปดาห์ละ 1-2 วันก็พอ เพื่อให้คุณครูกับนักเรียนได้พูดคุยกัน แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนเข้า เพราะนักเรียนบางคนก็ไม่ได้มีอุปกรณ์พร้อม เวลาไม่ตรงกัน หรือ ไม่มีอินเตอร์เน็ตที่ดีพอที่บ้าน หลังจากที่ได้ live แล้ว คุณครูจึงควรอัดคลิปเก็บไว้ และแชร์ให้นักเรียนที่ไม่ได้เข้า live มาดูย้อนหลัง 
  • พยายามอย่าให้นักเรียนอยู่หน้าจอทั้งวัน: แนะนำให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลายและไม่ใช่กิจกรรมบนคอมพิวเตอร์ เช่น การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ การเขียน การวาดภาพ แล้วให้ถ่ายรูปมาส่งเป็นการบ้านแทน
  • ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วย: ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้ปกครองได้ร่วมกันทำกับเด็ก ๆ ให้การเรียนรู้สนุกยิ่งขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครอบครัว คุณครูควรทำอัพเดทแผนการเรียนรายสัปดาห์ส่งให้ผู้ปกครองดูด้วย และให้ผู้ปกครองสามารถเสนอแนะได้ แบบนี้จะช่วยลดความกังวลได้มาก ช่วยให้ผู้ปกครองรู้ว่าจะช่วยเรื่องการเรียนรู้ของลูกได้ยังไงบ้าง ในแต่ละวันลูกควรทำอะไรบ้าง และช่วยติดตามผลได้ด้วย 
  • ลองดูระบบ LMS บริหารจัดการ: ถ้าที่โรงเรียนยังไม่มีระบบ LMS (Learning Management System) นี่คือโอกาสอันดีที่จะได้เปลี่ยนมาลองใช้ เพื่อช่วยบริหารงานให้เป็นไปตามแผนการเรียนการสอน ใช้ของแบรนด์ไหนก็ได้ แต่ฟีเจอร์สำคัญที่ใช้บ่อยและควรมี ได้แก่ การโพสต์แชร์ไฟล์ วิดิโอ ลิ้งค์ การส่งการบ้าน การตรวจการบ้าน การเพิ่มคอมเมนต์ การสรุปผลการเรียน และการส่งข้อความแชร์อัพเดทให้นักเรียนและผู้ปกครองดูผ่านทางแอพมือถือ



ใช้นวัตกรรมเข้าช่วย - มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ประเทศจีน 

มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงได้เริ่มทดลองสอนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 แล้ว ให้บทเรียนเป็นไปตามแผนการสอนของเทอมนั้น และในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทางมหาวิทยาลัยสามารถทำคอร์สเรียนได้มากถึง 5,000 คอร์ส สำหรับนักเรียน ป.ตรี และ ป.โท จากในและต่างประเทศ และผู้ที่สนใจทั่วไป

แพลตฟอร์มที่ใช้ในการเรียนมี 2 รูปแบบหลัก

  1. แพลตฟอร์มคอร์สออนไลน์ Learning at ZJU
  • เรียนบนเว็บไซต์หรือบนแอพลิเคชั่นก็ได้ 
  • มีบทเรียนให้เลือกเรียนมากกว่า 10 หมวดหมู่ เช่น วิศวกรรม บริหาร เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา การแพทย์ คอร์สเรียนมีหลายแบบ มีแบบที่ให้เลือกเรียนเสริมตามความสนใจ หรือ แบบที่บังคับเรียนเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชา
  • สามารถดูได้ว่าใครเรียนคอร์สนี้บ้าง มีการให้คะแนน rating คอร์สและคอมเมนต์
  • แพลตฟอร์มนี้ถูกพัฒนาโดยแผนก ICT ของทางมหาวิทยาลัยเอง ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้มีคนเข้าเรียนแล้วกว่า 570,000 คน
  1. เรียน live สดบน DingTalk ZJU
  • DingTalk ZJU เป็นแพลตฟอร์มที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาร่วมกับบริษัท Alibaba โดยปรับจากตัวแอพ DingTalk ซึ่งเป็นแอพสื่อสารภายในองค์กร ปรับให้เข้ากับบริบทของภาคการศึกษา โดยการเปิดเป็น ห้องเรียนออนไลน์  
  • ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้แล้วกว่า 300,000 คน
  • อาจารย์สามารถอัดวิดิโอการสอนไว้ได้ สำหรับนักศึกษาที่พลาดการเรียน live หรือต้องการดูย้อนหลัง
  • ทาง DingTalk ได้พัฒนาฟีเจอร์เพิ่มเติมสำหรับภาคการศึกษาโดยเฉพาะ เช่น 

I) ฟีเจอร์ “Live stream class” รองรับผู้เรียนมากถึง 300 คนต่อ 1 ห้องเรียน

II) ฟีเจอร์ สอบและตัดเกรดออนไลน์

III) ฟีเจอร์ ช่วยอาจารย์บริหารการเรียนการสอน ลดงานจำเจ ช่วยจัดเก็บข้อมูลผู้เรียน สามารถส่งข้อความไปหาผู้ปกครองและผู้เรียนได้ง่ายขึ้นเพื่อแจ้งเตือนข้อมูลสำคัญ


ถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จ:

  • เทคโนโลยีพร้อมใช้: มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงสามารถปรับตัวได้เร็ว เพราะทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีมาตั้งแต่แรกแล้ว มีแผนก ICT ที่ดูแลเรื่องนวัตกรรมภายใน Smart campus โดยเฉพาะ มีการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Alibaba และมีการทำ open innovation system คือเปิดให้นักศึกษสามารถร่วมกับนวัตกรทั่วโลกพัฒนางานวิจัยได้
  • โซลูชั่นครอบคลุมปัญหารอบด้าน: ทำโซลูชั่นได้ครอบคลุมทุกเรื่องที่ส่งผลกับการเรียนออนไลน์ ไม่ใช่แค่มีเพียงแพลตฟอร์ม แต่ทางมหาวิทยาลัยยังได้เตรียมโซลูชั่นสำหรับการติดต่อกับนักศึกษา การเทรนอาจารย์กว่า 3,500 คนให้ใช้ระบบได้และช่วยแนะนำเทคนิคการปรับตัว การแก้ปัญหาอินเตอร์เน็ต 
  • ขจัดอุปสรรคการเข้าถึง: สำหรับนักศึกษาที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต สามารถขอเบิกค่าใช้จ่ายได้ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกับบริษัท Telco หลายแห่งเพื่อทำโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตราคาพิเศษ


คุณครูและบุคลากรคือกำลังสำคัญ - โรงเรียนมัธยมปลาย Mount Olive สหรัฐอเมริกา

ช่วงที่โรค COVID-19 เริ่มระบาดในสหรัฐ ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่ทางภาครัฐจะเริ่มสั่งปิดโรงเรียน โรงเรียนมัธยมปลาย Mount Olive ได้รวมตัวคุณครูและบุคลากรเพื่อเริ่มวางแผนการรับมือกับสถานการณ์และวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไรหากต้องเปลี่ยนมาสอนออนไลน์

ในส่วนของแพลตฟอร์มออนไลน์ ทางโรงเรียนปรับตัวมาใช้ Google Classroom ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ใช้ฟรี มีทั้งแบบแอพและเว็บไซต์ คุณครูสามารถสร้างคลาสออนไลน์ แบบทดสอบ สร้างและแจกจ่ายการบ้าน ตัดเกรด สื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองได้ เมนูการใช้งานคล้ายคลึงกับการใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของ Google ซึ่งถ้าผู้ใช้คุ้นเคยอยู่แล้วจะยิ่งเข้าใจง่าย นอกจากนี้ยังมี template เอกสารประกอบการเรียนวิชาต่าง ๆ ให้คุณครูมาเลือกใช้ได้ด้วย 


ถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จ:

  • วางแผนการรับมือล่วงหน้า: ทางโรงเรียนได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด และวางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดล่วงหน้า เมื่อรัฐบาลสั่งปิดโรงเรียน ได้มีแผนการรับมือเตรียมไว้แล้ว และได้เทรนคุณครูและบุคลากร จึงสามารถปรับตัวได้ ทำให้นักเรียนสามารถเรียนจากที่บ้านต่อได้เลย ต่างจากโรงเรียนอื่นที่เพิ่งมาเริ่มวางแผนตอนโดนสั่งปิด
  • ให้คุณครูและบุคลากรมีส่วนร่วม: แผนการทั้งหมดไม่ได้มาจากผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงผู้เดียว แต่เป็นการระดมสมองให้คุณครูและบุคลากรช่วยกันคิดหาทางแก้ จึงทำให้เกิดวิธีการที่สามารถทำได้จริงและเหมาะสมกับบริบท 
  • เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม: กรณีนี้แตกต่างจากกรณีแรกของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงที่มีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว โรงเรียนส่วนมากไม่เคยต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์มาก่อนและไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง การเลือกใช้แพลตฟอร์มของบริษัทต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วจึงเป็นตัวเลือกที่สะดวกและรวดเร็ว ในกรณีนี้ คุณครูของโรงเรียน Mount Olive คุณครูคุ้นชินกับการทำงานบน Google Drive อยู่แล้ว เมื่อปรับมาใช้ Google Classroom ก็สามารถเข้ามาสร้างบทเรียนได้ไม่ยาก ไม่ต้องเรียนรู้การใช้งานเยอะ และฟีเจอร์พื้นฐานที่มีมาให้ก็ตรงตามความต้องการของคุณครู ไม่ได้ต้องมีฟีเจอร์ล้ำ ๆ อะไรมากมาย แต่ต้องการความง่ายเป็นหลัก แต่ละโรงเรียนมีความต้องการและมีลักษณะที่แตกต่างกัน จึงควรเลือกใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะกับโรงเรียนนั้น ๆ โดยเฉพาะจะดีกว่า ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าแพลตฟอร์มไหนดีที่สุด แต่ควรเลือกให้เหมาะกับพฤติกรรมของผู้ใช้ 


สำหรับในประเทศไทยเอง หลายสถาบันก็สามารถปรับตัวได้ดี ดำเนินการเรียนการสอนต่อไปได้ในยามวิกฤตเช่นนี้ กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นในภาคการศึกษา อาจารย์หลายคนที่ไม่เคยสอนออนไลน์มาก่อนก็ต้องปรับตัว หาเทคนิคใหม่ ๆ มาดึงความสนใจนักเรียนและจัดการข้อมูลการเรียน ผู้เรียนเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เป็นช่วงที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งสำหรับวงการ EdTech สตาร์ทอัพไทย


ติดตามข่าวสารความรู้ในวงการสตาร์ทอัพได้ทางเพจ Disrupt Technology Ventureและพบกันที่งาน Education Disruption Conference 2020: Reimagine Thailand’s Education 2030, Virtual Conference ที่จะพาทุกคนมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่าน Content สุด exclusive จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย พร้อมทั้งฟังประสบการณ์ จาก EdTech Startups และ Social Entrepreneurs ที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่นี่



ขอบคุณข้อมูลจาก 

https://www.weforum.org/agenda/2020/03/coronavirus-china-the-challenges-of-online-learning-for-universities/
https://qz.com/1814937/what-is-dingtalk-the-alibaba-app-that-quarantined-kids-in-china-hate/
https://tcglobal.com/insights/covid-19-how-it-changed-world-of-education
https://www.njtvonline.org/news/video/across-nj-educators-prepare-for-virtual-teaching-if-covid-19-closes-schools/
https://siliconangle.com/2020/03/29/coronavirus-pandemic-drives-huge-demand-google-classroom-app/
https://www.edsurge.com/news/2020-03-20-smiles-are-infectious-what-a-school-principal-in-china-learned-from-going-remote


Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง