เมื่อความเร็วไม่ใช่สูตรลับเดียวของความสำเร็จ

February 2, 2024
Palida Koyama Yukie

ก่อนเริ่มอ่านบทความนี้ อยากให้ผู้อ่านลองจับเวลาการอ่านของตนเองตั้งแต่ต้นจนจบดูค่ะ

3 2 1 เริ่ม!

ในยุคที่ทุกคนเชื่อว่า “ความเร็ว” คือผู้ชนะ

ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและ Disruption ที่ทุกครั้งของการประชุม จะต้องมีคำว่า เร็วกว่านี้, เร็วขึ้นอีก, วิ่งให้ทันกับกระแสของคู่แข่ง ลูกค้า, หรือความเห็นที่ว่าเราไม่ทันกับความเร็วของใครต่อใคร…

ในจังหวะที่ทุกอย่างไหลเวียนตามกระแส… บางครั้ง หัวหน้าอาจต้องบอกให้ลูกน้อง “ช้าลง”

Wall Street Journal ได้กล่าวว่าการ ‘Slow Down’ ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ในบางครั้งเรายังไม่ทันได้ทำความเข้าใจปัญหาให้ลึกซึ้ง เราก็มุ่งไปสู่การแก้ปัญหาทันที ซึ่งหลาย ๆ ครั้งกลับทำให้ปัญหายุ่งเหยิงกว่าเดิม หรืออาจก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ 

ดังนั้น ‘การแตะเบรกถูกจังหวะนั้นสำคัญกับชัยชนะมากพอๆกับการเร่งความเร็ว’

จากงานวิจัยพบว่า หัวหน้าควรบอกให้ลูกน้องชะลอ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ตัวอย่างเหล่านี้ 

  1. ตอนที่เราต้องทำการตัดสินใจสิ่งที่ไม่อาจหวนคืน
การตัดสินใจสิ่งที่ไม่อาจหวนคืน

ปัญหานี้มีทางออกเดียวหรือไม่? เป็นคำถามที่เราต้องถามให้ดี ก่อนการตัดสินใจโดยใช้ความเร็ว 

ในหนังสือ Thinking Fast and Slow ได้อธิบายถึงระบบของความคิด ออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบที่ 1 ที่ใช้ความคิดตามสัญชาตญาณ เป็นไปตามธรรมชาติ และ ระบบที่ 2 คือระบบที่ใช้สมาธิ หรืออาศัยการเพ่งพินิจเพื่อคิดไตร่ตรอง โดยมนุษย์ต้องใช้สองระบบนี้ควบคู่กันไป 

ซึ่งในการพิจารณาการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการทำงาน เราอาจใช้ระบบที่ 1 หรือระบบตามสัญชาติญาณจนเคยชิน จนมองข้ามอคติเล็กๆทางใจของเราไปซึ่งอาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด และไม่มีประสิทธิภาพได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เหตุการณ์ที่บอร์ดบริหาร OpenAI เจ้าของ ChatGPT สั่งปลด Sam Altman, CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ลงอย่างเร่งรีบ และขาดการรับมือที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้พนักงานของ OpenAI มากถึง 70% ของบริษัทประกาศจะลาออกและไปร่วมตั้งทีมใหม่กับอัลต์แมนที่ Microsoft และนั่นทำให้ภายใน 5 วันต่อมา Sam Altman ได้ตำแหน่งของเขาคืน พร้อมกับการที่บอร์ดส่วนมากลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่อาจหวนคืน ที่หลายๆครั้งต้องบอกว่า “ช้าแต่ชัวร์” คงไม่ได้เป็นคำพูดที่ดีเกินจริงไปนัก

  1. ตอนที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์

หลายๆคนอาจคุ้นเคยกับการรีดความคิดสร้างสรรค์ด้วยเวลาที่จำกัด หรือการเร่งความคิดสร้างสรรค์ออกมา ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับความเห็นของ Teresa Amabile นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ที่ Harvard Business School ซึ่งศึกษาความคิดสร้างสรรค์มานานกว่า 40 ปี 

“ไม่มีทางลัดสู่ความคิดสร้างสรรค์” 

Teresa บอกว่าความคิดสร้างสรรค์ดีๆนั้น ไม่อาจเกิดได้เมื่อมีความกดดัน และการพยายามหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ดังนั้น “ประสิทธิภาพ” อาจขัดขวาง “งานสร้างสรรค์ หรือไอเดียใหม่ๆของคุณ”

Ed Catmull ประธานของ Pixar ในช่วง 32 ปีแรก ได้มีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนี้ Pixar ได้ผลิตภาพยนตร์ยอดนิยมมากมาย รวมถึง “Toy Story” และ “The Incredibles” ออกมา เพราะสิ่งที่เป็นเป้าหมายของพวกเขานั้น คือ การสร้างสิ่งที่ดี หรือสิ่งที่สุดยอด เท่านั้น พวกเขามุ่งไปที่คุณภาพและความสร้างสรรค์ แม้ต้องวนแก้ไป 7 8 หรือ 9 ครั้ง ก็ยอม 

  1. ตอนที่องค์กรมีความยืดหยุ่นมากเกินไป
องค์กรที่มีความยืดหยุ่นมากเกินไป

ในบางครั้งโครงสร้างแบบลำดับขั้น (Hierarchy) นั้นมีประโยชน์ เพราะว่าบางสถานการณ์ต้องอาศัย การทำงานช้าลง เพื่อไม่ให้ลูกน้องทำบางสิ่งที่ ‘ยิ่ง’ ทำให้ผลลัพธ์ไม่ออก ซึ่งการมีโครงสร้างของการตัดสินใจหรือขั้นตอนการอนุมัติ ช่วยให้องค์กรและทีมไตร่ตรองบางสิ่งได้รอบคอบมากยิ่งขึ้น 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การที่องค์กรให้อิสระกับทุกคนให้การซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การทำงานเล็ก ๆน้อย ๆ โดยสามารถตัดสินใจซื้อได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการอนุมัติ แม้ว่าจะทำให้เกิดความคล่องตัว (Flexibility) ในการทำงาน แต่สุดท้ายอาจจะพบว่า มีค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนเกิดขึ้น เนื่องจากหลายๆคนซื้อของซ้ำกัน หรือทำให้เกิดของเสียเยอะขึ้นได้ 

มีขั้นตอนการตัดสินใจบ้าง คงช่วยองค์กรในอีกมุมได้ไม่มากก็น้อย

  1. ตอนสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า 
การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

ขึ้นชื่อว่า ความสัมพันธ์ ไม่ว่ากับใคร มันคือเรื่องของการลงทุนเพื่อให้เกิดความเชื่อใจ (Trust) ดังนั้นหลายๆครั้ง สิ่งที่เราต้องใส่ไปมากกว่าความจริงใจ ก็คือ ‘เวลา’ 

“ประสบการณ์ของลูกค้า (Customer Experience) VS ความเร่ง”

เราน่าจะเริ่มเห็น เคาท์เตอร์ชำระเงินด้วยตนเอง (Self-Checkout) ในร้านค้าต่างๆมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่าองค์กรต้องการนำเทคโนโลยีมาลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพหน้าร้าน แต่ในบางอุตสาหกรรมระบบเพื่อความเร่งนี้อาจจะไม่เวิร์ค 

อย่าง แคมเปญ “One Against Loneliness” ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ นั้นสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกที่จะเอนจอยกับบทสนทนากับแคชเชียร์ที่เฟรนลี่ได้ หลังจากแคมเปญออกไปทำให้เกิดผลตอบรับที่ดี ทำให้ Super Market Jumbo เพิ่มสิ่งที่เรียกว่า “Slow Lane” ในมากกว่า 200 สาขา เมื่อปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับการสร้างความสัมพันธ์ เวลาคุณภาพ และความค่อยเป็นค่อยไป อาจทำให้เราเจาะใจลูกค้าได้ดีกว่า และแน่นแฟ้นขึ้น

ดังนั้น Slow Experience อาจทำให้ลูกค้าของคุณดื่มด่ำกับคุณหรือสินค้าของคุณมากกว่าที่เคย 

ถึงตอนนี้ ใกล้เวลาที่จะหยุดนาฬิกาของผู้อ่านแล้ว…สิ่งสำคัญกว่าเวลาที่เดินไปคือการที่พวกเราตระหนักว่าความช้าและความเร็วมีประโยชน์ทั้งนั้น ในฐานะหัวหน้า การรู้ว่า ต้องช้าลงตอนไหน จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

เราฝึกตนเองและทีมให้หมุนทันกับความเร็วของการเปลี่ยนแปลง แล้วอย่าลืมฝึกให้เราและคนรอบข้างให้ความสำคัญกับปัจจุบันนะคะ 

หากมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่าอ่านจบเร็วไป ลองอ่านอีกครั้งแบบไม่จับเวลา สร้าง Slow Lane ให้ใจของเราบ้าง อาจช่วยให้เห็นอะไรดีๆมากขึ้นค่ะ

ที่มา

Why Bosses Should Tell Employees to Slow Down More Often

สรุป 6 ข้อคิด จากหนังสือ Thinking Fast and Slow ที่นำไปปรับใช้กับการลงทุนได้

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง