Holacracy ระบบการบริหารแบบไร้ผู้นำ

April 18, 2024
Palida Koyama Yukie

ลองจินตการถึงจักรวาลคู่ขนานที่องค์กรของคุณมีโครงสร้างการบริหารที่เป็นอิสระ, ไร้ผู้บริหาร และมีความคล่องตัว ราวกับ “อะมีบา” ที่พร้อมเคลื่อนตัว และแยกแตกหน่อออกมาได้ทุกเมื่อ ธุรกิจของคุณจะหน้าตาแตกต่างออกไปจากเดิมอย่างไร? การเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่องค์กรหรือไม่? 

ความแตกต่างระหว่างระบบ Holacrazy และ Hierarchy
ความแตกต่างระหว่างระบบ Holacrazy และ Hierarchy

ถ้าเป็นยุคก่อนที่จะมี Technological Disruption คงจะเป็นภาพที่ยากเกินจะจินตนาการ แต่ในยุคปัจจุบันภาพการบริหารองค์กรแบบไร้ผู้บริหาร อาจไม่ไกลเกินจริง

เราทุกคนอาจคุ้นเคยกับลำดับขั้นการบริหารองค์กรแบบลำดับขั้น (Hierarchy) และโครงสร้างองค์กรที่ถูกแบ่งเป็นแผนก และขอบเขตงาน (Accountability Line) และอำนาจการสั่งงานและการตัดสินใจที่ชัดเจน ซึ่งข้อดีของการที่องค์กรมีโครงสร้างแบบนี้คือ จะช่วยลดความสับสนในหน้าที่ หรือขอบเขตงานได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงกระบวนการตัดสินใจที่เป็นระบบระเบียบ ซึ่งช่วยให้องค์กรมีกระบวนการในการทำงานที่เป็นแบบแผน และรัดกุม

ในขณะเดียวกันเมื่อองค์กรขยายตัวใหญ่ขึ้น โครงสร้างเหล่านี้กลับทำให้องค์กรมีการสื่อสารที่ยากลำบาก และความคล่องตัวในการบริหารงานน้อยลง ไม่ว่าจะเป็น การที่แต่ละฝ่ายทำงานเป็น Silo ต่างคนต่างทำ ขาดความเข้าใจในเนื้องานของแต่ละทีม และการประสานงานระหว่างโปรเจค กลายเป็นชะนวนความขัดแย้งระดับองค์กร ซึ่งเป็นโครงสร้างการบริหารที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก เราจึงจะเห็น การ Spin Off ของธุรกิจออกมาเป็นบริษัทย่อย เพื่อความคล่องตัวในการบริหารมากกว่าการปรับโครงสร้างนั่นเอง

แล้วแนวคิดการบริหารคนแบบอิสระ ไร้ผู้บริหาร (Holacracy) คืออะไร?

องค์กรคล่องตัวราวกับอะมีบา

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากรูปแบบของการทำธุรกิจในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุค Sharing Economy การทำธุรกิจแบบ Peer to Peer ซึ่งก็คือการจับคู่ระหว่างผู้ให้บริการที่มีทรัพย์สินหรือสิ่งของ เช่น ห้องพัก (Airbnb), รถยนต์ (Grab) ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างการบริหารแบบเดิมมีประสิทธิภาพน้อยลง เนื่องจากรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป ก็ต้องการกลยุทธ์รวมถึง Framework การบริหารที่เข้ามาสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

โดย Brian Robertson เป็นผู้คิดค้นโครงสร้างการบริหารแบบ “ไร้ตำแหน่งผู้บริหาร” ขึ้นมา 

ซึ่งหลักการคือ “Self-Managed Circle” 

ในวงกลมหนึ่ง หรือ “Circle” จะถูกสร้างขึ้นมาเมื่อมีเป้าหมาย หรือโปรเจคย่อย ที่ในวงกลมนั้น จะไม่ได้สนใจว่าในโครงสร้างคนแต่ละคนเป็นใคร เพราะบทบาทหน้าที่ (Roles) ในวงกลมจะถูกกำหนดด้วยตัวงาน และเป้าหมายของงาน (Common Purporse)  ไม่ใช่ “ตำแหน่ง” หรือ “Title” 

ใจความสำคัญคือ “Structure that is governed by group of roles, not group of people”

ซึ่งในแต่ละ “Circle” นั้นจะมีกลุ่มคนที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 บทบาทหลักๆได้แก่ 

Self-Managed Circle
คำอธิบาย Self-Managed Circle
  1. Sub-Circle หรือวงกลมย่อย: กลุ่มของบทบาทในงาน ซึ่งไม่ใช่บทบาทถาวร คุณอาจจะเป็น CEO ในบริษัท แต่กลายเป็น Team Member ใน Circle ที่ต้องทำโปรเจคใหม่ ซึ่งมีน้อง Junior มา Lead คุณอีกทีก็เป็นได้ ซึ่ง Sub-Circle จะมีหลากหลายคนในวงก็ได้ โดยในวงย่อยจะมีอำนาจ การตัดสินใจ และการบริหารและสไตล์เป็นของตัวเอง เพียงแค่ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่พวกเขาทำ ตอบโจทย์เป้าหมายของวงกลมใหญ่ หรือ Circle อีกทีหนึ่ง
  2. Super Circle or Circle Lead: ซึ่งมีหน้าทีกำหนดบทบาทของคนใน Sub-Circle หรือวงย่อยอีกทีหนึ่ง ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการไปเปลี่ยน Governance ในวงย่อย แต่มีหน้าที่ดูทิศทาง และทำให้แน่ใจว่ามีการสื่อสารบทบาทกับวงย่อยสม่ำเสมอให้เป็นไปตามเป้าหมายของ Circle 

กล่าวได้ว่า Holacracy คือขั้นกว่าของการทำ Agile ที่แต่ละคนต้องสลัดตัวตนเข้าสู่บทบาทที่ได้รับ

ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสขององค์กรที่จะขยับขยายบทบาทและสนับสนุนศักยภาพของคนในองค์กร แต่ละบทบาทสามารถที่จะอยู่ในหลาย ๆ วงกลม (Circle) ได้ และช่วยองค์กรเรื่องการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ ให้โอกาสผู้นำของแต่ละวงกลมได้มีความเป็นเจ้าของ (Ownership) กับสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น 

นอกจากนั้นยังทำให้ลดโอกาสการมี Dead Wood หรือคนที่ทำงานเช้าชามเย็นชามได้อีกด้วย เพราะมีการหมุนเวียนงานตามบริบทของธุรกิจ และ Visibility ของผลงานมากขึ้น เป็นที่ประจักษ์กับองค์กรและคนหมู่มาก 

ซึ่งมีหลายๆ บริษัทที่นำเอาแนวคิดของ Holacracy ไปใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Platform การลงทุน Finnomena, หรือ Global Brand ที่เป็นที่รู้จักในเรื่องการผลิตกระเป๋าและเครื่องประดับรักษ์โลกอย่าง Freitag 

หากองค์กรไหนสนใจนำแนวคิดและโครงสร้างการบริหารแบบนี้ไปใช้ ก็ต้องตระหนักถึงข้อดี และข้อจำกัดของโครงสร้างนี้ รวมไปถึงการตั้งคำถามที่สำคัญว่า “องค์กรพร้อมรับกับความยืดหยุ่นนี้และพร้อมจะสละอำนาจจากตำแหน่งให้กับ Circle Leader ได้หรือไม่” 

สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ Holacracy ได้ที่ https://www.holacracy.org/

ที่มา

https://www.holacracy.org/

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/117873

https://bluebik.com/th/blogs/2936

https://www.finnomena.com/fundtalk/holacracy/

https://www.holacracy.org/constitution/5-0/#art1

Update ความรู้จาก Disrupt ได้ที่ช่องทาง